รัฐหนุนปั๊มลูก เพิ่มลดหย่อนภาษี ดี ไม่ดี มาตีแตกกัน

ช่วงนี้คงเป็นช่วงสับสนของผู้คนที่อยู่ในแวดวงภาษี (ซึ่งความจริงทุกคนมีส่วนร่วมกับภาษีนะ) ทั้งนักบัญชี เจ้าของธุรกิจ นิติบุคคล หรือผู้ที่มีรายได้ต่างจับตาดูนโยบายรัฐที่กำลังจะมีมาตรการ หรืออยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนภาษีต่าง ๆ เช่น การพิจารณาปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 8 % ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าแค่ 1 % ถ้าพัฒนาประเทศได้จริงก็ขึ้นเลย แต่เมื่อเราคิดอย่างจริงจังเป็นตัวเลขแล้ว การเสียภาษีจาก 100 บาท เสีย 7 บาท มาเป็น 100 บาท เสีย 8 บาทนั้น จำนวนที่เพิ่ม 1 บาท คิดเป็น 14.28% (โดยคิดจาก 1 บาทเทียบกับ 7 บาท หรือ 100 หาร 700 ) ซึ่งหมายความว่า ตัวเลขนี้จะแทรกเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของการซื้อสินค้า จากต้นทางการซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ค่าบริการ กระบวนการผลิต จนเมื่อมาถึงปลายทางหรือผู้บริโภค จำนวนเงินภาษีดังกล่าวก็ทบเท่าทวีมากขึ้น ๆ (ยิ่งคำนวณยิ่งปวดใจ)

หรือบางอย่างที่ประกาศใช้ไปแล้วเช่นเรื่องของนิติบุคคล ที่ต้องยื่นงบการเงินในรูปแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่ธุรกิจตั้งอยู่ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งปกติยื่นแบบออนไลน์ได้ (นั่นสิ ทำไมต้องยุ่งยากด้วย) หรือเรื่องที่ผู้ประกอบการที่รับชำระค่าสินค้าและบริการจากประชาชนไม่ว่ารูปแบบเงินสด หรือรูปแบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีเครื่อง EDC อย่างน้อย 1 เครื่อง (โดยขอจากสถาบันการเงิน ธนาคารต่าง ๆ) และต้องรายงานไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 15 วัน หลังจากติดตั้งเครื่องเสร็จ (จ้า)

 

 

เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกำหนดกฎเกณฑ์ที่เราผู้เป็นประชาชนต้องปฏิบัติตาม แต่แล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ข่าวดี (?) ว่ารัฐบาลเล็งเห็นว่าประเทศไทยกำลังจะขาดแคลนแรงงานประชากรของชาติในอนาคต เพราะเด็กที่เกิดมามีอัตราลดลง ผู้คนไม่ต้องการมีลูกหรือมีลูกแค่คนเดียวมากขึ้น อันเนื่องมากจากความเชื่อต่าง ๆ มากมาย เช่น มีลูกมากจะยากจนหรือมีมาแล้วเขาเติบโตในสังคมที่ลำบาก หรือวางแผนมีลูกกันตอนอายุเยอะ ในช่วงเวลาที่พร้อมกันจริง ๆ แบบนี้เป็นต้น จึงกำลังพิจารณากระตุ้นให้ประชาชนคนไทยให้มีบุตรด้วยการเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีแก่บุตรคนที่ 2 ถึงปีละ 60,000 บาท (โอ้พระเจ้า!)

 

แล้วการที่เพิ่มการลดหย่อนแบบนี้มีผลดีจริง ๆ หรือว่ามีนัยแอบแฝงอะไร เดี๋ยวลองมาตีแผ่กันให้หายสงสัย

  • ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า กฎหมายปัจจุบันเรื่องการลดหย่อนภาษีของบุตร (ส่วนการหย่อนยานของภรรยานำมาลดภาษีไม่ได้นะจ๊ะ) นั้นกำหนดไว้ว่า ในปีนี้ (2560) ได้เพิ่มค่าลดหย่อนภาษีของบุตรจาก 15,000 และ 17,000 บาท (ในกรณีบุตรกำลังศึกษา) ให้เพิ่มเป็น 30,000 บาท โดยไม่จำกันจำนวน ซึ่งถ้าเพิ่มเป็น 60,000 บาทจะช่วยกระตุ้นให้คนอยากมีลูกเพิ่มหรือไม่… เรามากดเครื่องคิดเลขกันคร่าว ๆ ว่า การลดหย่อนจากเดิม 30,000 บาทต่อปี แสดงว่ารัฐคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงบุตรของประชาชนคิดเป็น 2,500 บาทต่อเดือน (เป็นพระคุณแท้ ๆ พ่อคุณ) แต่ถ้าปรับมาเป็น 60,000 บาทต่อปี แสดงว่า คนที่ 2 จะได้ค่าเลี้ยงดูเป็น 5,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งเมื่อรวม 2 คน (กรณีมีแค่ 2 คน อยากมีมากกว่านี้ก็คิดกันเอง) ก็เท่ากับว่า รัฐบาลให้ค่าลดหย่อน 2 คน 90,000 บาทต่อปี หรือ 7,500 บาทต่อเดือน คุ้มไหมลองคิดกันดู
  • รายได้ของเรา แน่นอนว่าการที่เราจะมีลูกเพิ่มนั้นเราต้องมาดูรายได้ที่เป็นตัวเงินจริง ๆ ของเราว่ามีเพียงพอต่อการใช้จ่าย และเหมาะสมกับค่าครองชีพในถิ่นที่อยู่หรือไม่ จากนั้นก็มามองว่า ค่าลดหย่อนที่รัฐมอบให้ (7,500 บาท ต่อบุตร 2 คน) นั้น สัมพันธ์กันกับค่าใช้จ่ายจริง ๆ หรือเปล่า ซึ่งถ้าสัมพันธ์กันจริง ๆ สิ่งที่พิจารณาต่อมาคือ ค่าลดหย่อนไม่ใช่เงินสดที่ถูกมอบให้ แต่เป็นเพียงสิทธิด้านภาษีที่จะได้ละเว้น หมายความว่า จำนวนเงินที่ได้ ให้นำไปหักจากรายได้สุทธิก่อนนำไปยื่นภาษี ดังนั้นต้องคิดก่อนว่าฐานภาษีของเราอยู่ตรงจุดไหน

 

คิดกันง่าย ๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือน ถ้าคุณมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 310,000 บาท ต่อปี (คิดจาก รายได้ไม่เกิน 150,000 บาท บวกค่าลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัว 60,000 บาท และค่าใช้จ่ายมนุษย์เงินเดือน 100,000 บาท รวมเป็น 310,000 บาท) หรือเงินเดือนไม่เกิน 25,833.33 บาทต่อเดือน (310,000 / 12) คุณไม่เสียภาษีอยู่แล้ว นี่ยังไม่รวมค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่นำมาลดเพิ่มได้อีก หรือหากคุณไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน รายได้ที่นำมาคำนวณก็ยิ่งน้อยลงไปกว่านี้

 

ดังนั้น พิจารณาดูว่าค่าลดหย่อน 30,000 บาทที่รัฐให้เพิ่ม (สำหรับบุตรคนที่ 2) มานั้น คุณได้ประโยชน์จริงหรือไม่

 

จากประเด็นที่ยกมาก็คงพอทำให้มองเห็นแล้วว่า นโยบายนี้ดีหรือไม่อย่างไร ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่วางแผนจะมีอยู่แล้ว แต่ถ้าคิดว่าจะกระตุ้นให้คนอยากมีบุตรเพิ่มนั้น เชื่อว่ายังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่จะทำให้คนไทยไม่อยากมีลูกคนที่ 2

 

ที่ยกมาไม่ได้ต้องการชี้ให้คนไทยไม่ต้องมีลูกเยอะนะครับ การมีลูกเป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา การที่เราได้ทำหน้าที่พ่อ แม่ นั้นเป็นสิ่งดีงามเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่คิดว่าหากรัฐต้องการกระตุ้นการมีบุตรควรพิจารณาสภาพสังคม สวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่จะช่วยให้เด็กที่เกิดมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในขั้นพื้นฐาน มากกว่าจะหยิบยื่นเป็นตัวเงินที่บางทีแทบจะไม่ได้ใช้ เพราะอย่าลืมว่าเด็ก ๆ ที่เกิดมาก็จะมาพัฒนาประเทศของเรา หากเด็กมาในสภาวะสังคมที่ไม่เอื้ออำนวย เด็กที่เป็นความหวังของชาติ อาจกลายเป็นภาระมากกว่านะครับ