หัก ณ ที่จ่าย เงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 50

 

 

กัมปนาท บุญรอด*

 

ตามปกตินั้น กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากรล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดเวลาที่ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชี วัตถุประสงค์ของการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีไม่ให้ผู้มีเงินได้ต้องนำภาษีที่ตนต้องชำระทั้งสิ้นมาชำระในคราวเดียวกัน เมื่อสิ้นปีภาษีหรือสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่นำส่งกรมสรรพากรไว้ หากมีจำนวนน้อยกว่าภาระที่แท้จริง ผู้มีเงินได้ก็ต้องชำระเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เมื่อสิ้นปีภาษีหรือสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีหากนำส่งไว้เกินกว่าภาระที่แท้จริงผู้มีเงินได้มีสิทธิขอคืนภาษีส่วนที่นำส่งไว้เกินได้ โดยหลักการแล้วถ้าผู้มีเงินได้ยังไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ ผู้จ่ายเงินได้ก็ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากร การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร แยกวิธีการเสียภาษีหรือวิธีการจัดเก็บภาษีออกได้เป็น 5 วิธี คือ
1. วิธีการเสียภาษีโดยถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย
2. วิธีการเสียภาษีโดยยื่นแบบแสดงรายการประเมินตนเอง
3. วิธีการเสียภาษีโดยเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บ
4. วิธีการเสียภาษีเงินได้แทนกัน
5. วิธีการเสียภาษีเงินได้
เนื้อหาในบทความนี้จะเกี่ยวกับกรณีการเสียภาษีโดยถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้เป็นทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และรัฐบาล ส่วนผู้รับเงินได้จะเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น (รวมถึงคณะบุคคลซึ่งตามประมวลรัษฎากรถือเป็นบุคคลธรรมดาด้วย) เนื่องจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายต่างกัน จึงแบ่งการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามเงินได้พึงประเมินตามประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1. การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2)[1]
2. การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (3) และ (4)[2]
3. การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (5) และ (6)[3] (ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (3))
4. การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล ฯลฯ จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) (8) นอกจากการขายอสังหาริมทรัพย์[4]
5. การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (8) เฉพาะการขายอสังหาริมทรัพย์[5]

 


* นิติกร สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร
[1] ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (1)
[2] ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (2)
[3] ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (3)
[4] ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (4)
[5] ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (5) (6)
ที่มา http://www.sanpakornsarn.com/page_article_detail.php?aID=735