เรื่องราวงบการเงินที่เคยได้ยินได้ฟังกันเป็นมาบ้างนั้น มักมี 3 ประเภทหลัก คือ งบดุล, งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด ซึ่งงบการเงินแต่ละประเภท ก็มีรูปแบบเฉพาะตัว แสดงหน้าที่ต่างกัน สำหรับงบดุลนั้น มักเป็นที่จดจำกันว่า “งบดุลต้องดุลเสมอ” เสมือนเป็นการท่องจำกันไป โดยอาจยังไม่รู้เหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร เราขอนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจถึงผลเหตุว่า “งบดุล ทำไมต้องดุล ?”
งบดุล เป็นงบการเงินที่แสดงถึง “ฐานะการเงินของกิจการ ณ วันสิ้นงวดบัญชี” ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 3 เดือน , 6 เดือน เป็นต้น หน้าตางบการเงินนี้ จะแบ่งเป็น 2 ด้าน 3 ส่วน กล่าวคือ ทางด้านซ้ายจะแสดงส่วนสินทรัพย์ ทางด้านขวาจะแสดง 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนหนี้สิน และส่วนของเจ้าของ หัวใจสำคัญของงบการเงินนี้จะเป็นไปตามสมการบัญชี ( Accounting Equation) ที่ว่า “สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ” เป็นสาเหตุให้รายการบันทึกในงบดุลมีจำนวนเท่ากันนั้นเอง
• งบดุลแสดงแหล่งเงินทุนของสินทรัพย์ กล่าวคือ ที่มาของสินทรัพย์ที่กิจการได้มานั้น หากไม่ใช่ “แหล่งเงินทุนตัวเอง” (ส่วนของเจ้าของ) ก็ย่อมมาจาก “แหล่งเงินทุนอื่น” เช่น การกู้ยืม (หนี้สิน) ดังนั้น ทุกสินทรัพย์ที่กิจการลงทุน จึงต้องเท่ากับผลรวมของหนี้สินและส่วนของเจ้าของ
• งบดุลแสดงฐานะการเงินของเจ้าของกิจการ กล่าวคือ เวลาต้องการตรวจสอบฐานะความมั่งคงของใครก็ตาม โดยปกติแล้ว มักดูกันที่ระดับสินทรัพย์และหนี้สิน หากมีระดับสินทรัพย์ที่มากกว่าหนี้สิน ย่อมแสดงถึงฐานะหรือความมั่งคงที่ดีได้ กรณีตรงกันข้าม หากมีระดับหนี้สินที่มากกว่าทรัพย์สิน ย่อมแสดงถึงความอ่อนแอทางฐานะการเงิน เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ หากต้องการรู้ถึงความแข็งแกร่งทางการเงินหรือฐานะการเงินของกิจการใดก็ตาม ก็สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จาก “ส่วนของเจ้าของ” คำนวณจาก ระดับ “สินทรัพย์” หักออกด้วยส่วนของ “หนี้สิน” ในเบื้องต้น นั้นเอง
This website uses cookies.