นาโนไฟแนนซ์ คืออะไร

นาโนไฟแนนซ์ คืออะไร?

นาโนไฟแนนซ์ เป็นโครงการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่สนใจ โดยไม่ต้องมีสลิปเงินเดือนหรือเอกสารทางการเงิน โดยมีวงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย+ค่าปรับ+ค่าดำเนินการ ไม่เกิน 36% ต่อปี เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนที่มีอาชีพที่ไม่มีเอกสารทางการเงินยืนยันหรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจ ตัวอย่างการคำนวนภาระดอกเบี้ยของนาโนไฟแนนซ์เทียบกับการกู้นอกระบบ
หากคำนวณภาระดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ เทียบกับหนี้นอกระบบ จะพบว่าภาระดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ถูกกว่ากันกว่า 2 เท่า ยกตัวอย่าง หากกู้เต็มวงเงิน 100,000 บาท เท่ากัน
ภาระดอกเบี้ยของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะอยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี ส่วนหนี้นอกระบบอยู่ที่ 120,000 บาทต่อปี
ถ้าผ่อน 3 ปี ในส่วนของภาระดอกเบี้ย สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะอยู่ที่ 108,000 บาท หนี้นอกระบบจะสูงถึง 360,000 บาท

 

มารู้จักนาโนไฟแนนซ์ให้มากขึ้น

นาโนไฟแนนซ์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกํากับ”
เป็นสินเชื่อที่ภาครัฐต้องการให้การสนับสนุนเนื่องจากเห็นปัญหาของประชาชนรายย่อยที่ต้องการใช้เงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานที่ใช้แสดงแหล่งที่มาของรายได้และไม่มีทรัพย์สินที่จะนํามาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน ทําให้ประชาชนกลุ่มนี้อาจต้องไปกู้เงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก จนมีภาระหนี้เกินตัวและอาจถูกติดตามทวงถามหนี้ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจนเกิดเป็นอันตรายได้

ดังนั้นสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จึงเป็นสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ที่ช่วยให้ประชาชนรายย่อยมีเงินทุนเพื่อนําไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้และจะช่วยลดปัญหาอันอาจเกิดจากการก่อหนี้นอกระบบได้ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าวสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จึงถูกกําหนดให้เป็นสินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาเพื่อนําเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพโดยไม่ต้องมีหลักประกัน

เงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

กระบวนการอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะของกลุ่มผู้กู้คือ ผู้กู้อาจจะยังไม่มีเอกสารแสดงรายได้ที่แน่นอนและไม่มีทรัพย์สินที่จะมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมได้
อย่างไรก็ดีเพื่อไม่ให้ประชาชนมีภาระหนี้มากเกินไป จึงได้จํากัดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายไว้ไม่เกิน 100,000 บาท และกําหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดรวมค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับ (อัตราดอกเบี้ยฯ) ไว้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้จากผู้กู้เพิ่มเติมจากอัตราดังกล่าวได้อีก ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบธุรกิจจะเรียกเก็บได้นั้น แม้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะต่ํากว่าสินเชื่อนอกระบบแต่ก็ยังคงสูงกว่าสินเชื่อในระบบประเภทอื่น เนื่องจากผู้กู้ยังไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่แน่นอน หรือผู้กู้อาจไม่เคยมีข้อมูลที่สามารถแสดงประวัติในการชําระหนี้ได้จึงมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ไม่ได้กําหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้กู้รายได้ขั้นต่ําของผู้กู้เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการขอสินเชื่อระยะเวลาของสัญญาสินเชื่อ หรือจํานวนเงินที่ต้องชําระในแต่ละงวดโดยให้เป็นไปตามนโยบายของผู้ประกอบธุรกิจที่จะกําหนดแนวทางในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้เองตามความเหมาะสมกับความสามารถในการชําระหนี้ของผู้กู้แต่ละรายกล่าวคือผู้กู้จะได้รับสินเชื่อ
เมื่อผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาแล้วว่าผู้กู้มีความสามารถในการชําระหนี้อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์มีการดําเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสมีการให้บริการอย่างเป็นธรรมและคํานึงถึงผู้บริโภค จึงได้มีการกําหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องต่างๆเช่น
– การเปิดเผยข้อมูลอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บ
– การจัดทําตารางแสดงการชําระหนี้ให้แก่ผู้กู้การจัดส่งใบแจ้งหนี้
– การกําหนดช่วงเวลาที่จะสามารถติดต่อผู้กู้ได้
– การดําเนินการในกรณีที่มีข้อร้องเรียน

ข้อดีของนาโนไฟแนนซ์

จะเห็นได้ว่าการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีลักษณะที่ยืดหยุ่นกว่าสินเชื่อประเภทอื่น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ อย่างไรก็ดีหากผู้กู้มีข้อมูลหรือหลักฐานแสดงรายได้ที่แน่นอนสามารถใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ผู้ประกอบธุรกิจก็ควรเสนอสินเชื่อประเภทอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ํากว่าร้อยละ 36 เพื่อลดภาระของผู้กู้ด้วย

ใครที่สามารถปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

ผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์บริษัทเงินทุน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยหากธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนต้องการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ก็สามารถดําเนินการได้เลย แต่หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงจะสามารถประกอบธุรกิจให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้โดยจะต้องจัดตั้งเป็นบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ํากว่า50 ล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio) ไม่เกิน 7 เท่า

บทสรุปของนาโนไฟแนนซ์

จากที่กล่าวมาข้างต้น หลายฝ่ายจึงมีความคาดหวังว่าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการกู้ยืมเงินได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะทําให้มีเงินทุนมาใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ให้ตนเองได้และช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ อย่างไรก็ดีสิ่งสําคัญที่ผู้กู้ควรคํานึงถึงในการกู้ยืมเงินนั้นคือ ความสามารถในการชําระหนี้ของตนเองโดยไม่ควรก่อภาระหนี้จนเกินตัว และควรมีวินัยทางการเงิน โดยจะต้องชําระหนี้ตามกําหนดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้สินที่สะสมหรือพอกพูนมากยิ่งขึ้น