• สรุปเรื่องความเข้าใจภาษีขายของออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มต้นแนวคิด และ หลักการในการบริหารจัดการภาษี เพื่อปรับทัศนคติที่มีต่อระบบภาษีไทยไปถึงจนเทคนิคการวางแผนภาษีอย่างถูกต้อง
• วิธีคำนวณภาษีสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ พร้อมตัวอย่างการคำนวณภาษี
• การวางแผนภาษี จัดการภาษี รวมถึงเรืองของภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์
•ความเข้าใจผิดเรื่องการจดทะเบียนต่างๆที่เกี่ยวกับการขายของออนไลน์
•ตอบคำถามว่า ขายของออนไลน์ ต้องจดบริษัทไหม?
ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีไหม
เปิดร้านมานานแล้ว แต่ไม่เคยยื่นภาษี ควรจะทำยังไงดี?
อยากรู้เรื่องภาษีแต่ไม่เข้าใจ ยากจังเลย
สวัสดีครับผม วันนี้พรี่หนอมจะมาแนะนำเคล็ดลับ วิธีคิด และคำนวณภาษีสำหรับคนขายของออนไลน์ให้เข้าใจง่ายๆ โดยอธิบายเป็นภาษาคนให้ฟังกัน ซึ่งเรื่องนี้เคยสอนไปหลายครั้งแล้วในเพจ TAXBugnoms แต่วันนี้จะมาสรุปทุกความเข้าใจเป็นบทความให้อ่านกันแบบยาวๆตั้งแต่ต้นจนจบไปเลยครับ
1. มีรายได้ = ยื่นภาษี และคำนวณภาษีให้ถูกต้อง เพราะกฎหมายกำหนดไว้ ถ้ารายได้ที่มีไม่ได้สิทธิ์ยกเว้นภาษี ก็ต้องเอามาคำนวณภาษี ซึ่งรายได้จากการขายของออนไลน์นั้นเป็นรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีแน่ๆครับ ดังนั้นต้องคำนวณภาษีให้ถูกต้องครับ
2. ไม่เสียภาษีสรรพากรตรวจไหม? จะรู้ว่าเรามีรายได้หรือเปล่า? โอเคครับ พรี่หนอมอยากให้ลองคิดก่อนว่า ถ้าเราทำผิด ก็มีโอกาสโดนตรวจสอบถูกไหมครับ (ถ้าสงสัยว่าไม่ยื่นภาษีผิดตรงไหน กรุณาอ่านข้อ 1 ซ้ำอีกรอบครับผม)
สำหรับคนที่คิดจะทำผิดก็สำรองเงินไว้จ่ายภาษีด้วยละกันครับผม เพราะเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโทษหนักสุดคือ 4 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย ทำเอาหลายคนปิดกิจการมานักต่อนักแล้วล่ะครับ ดังนั้นระวังไว้ด้วยนะครับ
3. สิ่งที่ต้องทำก่อนจะไปถึงเรื่องของภาษี คือ “บัญชีรายรับรายจ่าย” เรื่องนี้โคตรสำคัญกว่าภาษีหลายเท่า เพราะมันคือตัวกำหนดชีวิตของธุรกิจเราเลยล่ะครับ เพราะถ้าไม่รู้ว่าตอนนี้มีรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร ไปจนถึงเงินสดเท่าไร พูดได้เลยครับว่า หายนะชัวร์ๆครับผม
เมื่อเข้าใจหลักการแล้ว สิ่งต่อมาที่เราต้องรู้ก็คือ ไม่เสียภาษี ก็ยังมีหน้าที่ยื่นภาษี เพราะสองเรื่องนี้มันคือคนละเรื่องเดียวกันครับ นั่นคือการยื่นภาษี หมายความว่า เมื่อเราขายของออนไลน์มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดต้องยื่นภาษี แม้ว่าจะไม่เสียก็ตามจ้า แต่ในขณะที่ การเสียภาษี คือ การนำรายได้จากการขายของออนไลน์มาคำนวณภาษีตามวิธีที่กฎหมายบอก แล้วถ้ามีภาษีต้องเสียก็ต้องจ่ายนั่นเองครับ
เอ๊ะๆๆ แต่เคยได้ยินเขาว่ากันว่า ถ้ามีรายได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษีนี่นา อันนี้ก็ต้องเข้าใจว่าคำว่า “ไม่ต้องเสียภาษี” ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องยื่นภาษีนะครับผม เพราะกฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรไว้ว่า ถ้ามีรายได้ต่อปีเกิน 60,000 บาทต้องยื่นภาษีทุกกรณีนั่นเองครับ
ภาษีเสียเป็น “คน” ไม่ใช่เสียเป็นประเภท
ตังนั้นต้องเอารายได้ทุกประเภทมารวมกัน
หลายคนเข้าใจผิดว่า มีรายได้หลายทางให้แยกคำนวณภาษี คำตอบคือไม่ใช่ครับเพราะภาษีเสียเป็นคน โดยแต่ละคนต้องเอารายได้ทุกประเภทมารวมกันแล้วหักค่าใช้จ่ายไปคำนวณภาษี เช่น สมมติว่าพรี่หนอมเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ด้วย มันแปลว่าพรี่หนอมต้องเอารายได้ทุกประเภทมายื่นภาษีในชื่อของพรี่หนอมนั่นเองครับ
ทีนี้รายได้ขายของออนไลน์ของเรา
มันเป็นรายได้ประเภทไหนทางภาษีกันนะ
รายได้จากการขายของออนไลน์ ถือว่าเป็นรายได้ประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) ครับ ไม่ว่าจะขายอะไรยังไง ก็ถือว่าเป็นรายได้ประเภทนี้นั่นแหละครับ ซึ่งเวลาคำนวณภาษีนั้น จะคำนวณเป็นรายปี นั่นคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคมของทุกปี
แต่สำหรับรายได้ประเภทที่ 8 กฎหมายกำหนดเพิ่มเติมไว้ด้วยครับว่า คนที่มีรายได้ประเภทนี้ จะต้องเสียภาษีปีละสองครั้ง นั่นคือ ภาษีครึ่งปี และ ภาษีทั้งปี
ทวนอีกทีนะครับ รายได้ขายของออนไลน์ ถือเป็น รายได้ประเภทที่ 8 หน้าที่ คือ เสียภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) กับเต็มปี (ภ.ง.ด.90)
มาถึงตรงนี้ มันจะเชื่อมโยงกับคำถามที่ว่า ถ้าไม่รู้ว่าเรามีรายได้เท่าไร เราจะคำนวณภาษีเพื่อเสียไม่ได้ครับ เพราะว่าภาษีมันคำนวณจากรายได้ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย จะเสียภาษีได้ยังไงกัน นั่นแหละคือประเด็นสำคัญที่สุดในมุมมองของพรี่หนอมครับผม
พรี่หนอมว่าตอนนี้มันหมดยุคที่ต้องมารอให้สรรพากรประเมินเพื่อเสียภาษีแล้วนะครับ เพราะในยุค Thailand 4.0 แบบนี้ สิ่งที่เราต้องมีและเริ่มต้นคือ การวางแผนอย่างถูกต้อง คงจะมาทำแบบเดิมๆประเมินจ่ายกันแบบเหมาๆ แบบนี้คงไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไรแล้วล่ะครับ
เพื่อความเข้าใจมากขึ้น
ลองมาดูตัวอย่างประกอบกันครับ
สมมติ นายบักหนอม เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ขายของออนไลน์ แปลว่า นายบักหนอมจะมีรายได้ที่เป็นเงินเดือน #ประเภทที่หนึ่งและรายได้จากขายของออนไลน์ #ประเภทที่แปด
วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปกติมี 2 วิธี คือ วิธีแรก (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี และ วิธีที่สอง เงินได้ x 0.5% วิธีนี้คิดเป็นภาษีเลย โดยจะใช้วิธีนี้เมื่อตัวเรามีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาทต่อปี หลังจากนั้นค่อยเลือกเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า
เริ่มกันที่ รายได้ ก่อน จากตัวอย่างข้างต้นแปลว่านายบักหนอมจะต้องเอารายได้ทั้งที่เป็นเงินเดือนและรายได้จากการขายของออนไลน์มาเสียภาษี
ทีนี้มาที่เรื่องของ ค่าใช้จ่าย กันบ้างกฎหมายบ้านเรากำหนดให้หักค่าใช้จ่ายของรายได้แต่ละประเภทแตกต่างกันตามนี้ครับ
เช่น เงินเดือนหักได้ 50% ของรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนขายของออนไลน์หักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบเลือกเอาคือ เหมาไปเลย 60% หรือหักตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
แต่อย่าลืมว่ากรณีขายของออนไลน์ที่พรี่หนอมยกมานี้ มันคือกรณีที่ซื้อมาและขายไปเท่านั้นที่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ได้ไม่ใช่ผลิตเองนะถึงจะหักค่าใช้จ่ายแบบนี้ได้นะครับผม เพราะถ้าผลิตเองและขายเองต้องหักตามค่าใช้จ่ายจริงเท่านั้นครับ
จากตัวอย่าง สมมติให้รายได้นายบักหนอมเป็นดังนี้
– เงินเดือนเดือนละ 100,000 บาท
– ขายของออนไลน์ได้เดือนละ 150,000 บาท
เท่ากับว่านายบักหนอมจะมีรายได้รวมทั้งปี คือ
– เงินเดือนทั้งปี 1,200,000 บาท
– รายได้ขายของออนไลน์ทั้งปี 1,800,000 บาท
ส่วนการหักค่าใช้จ่ายปี 2560 นั้น คือ
– เงินเดือนหักได้ 50% ของรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท
– ขายของออนไลน์ เลือกหักค่าใช้จ่าย เหมาไปเลย 60% หรือค่าใช้จ่ายจริง
ดังนั้น เงินได้ – ค่าใช้จ่าย ตามวิธีการคำนวณภาษีจะได้ออกมาเป็น
– ฝั่งเงินเดือน 1,200,000 – 100,000 = 1,100,000 บาท
– ฝั่งขายของ 1,800,000 – 1,080,000 = 720,000 บาท (เลือกหักเหมา)
ดังนั้น (อีกที) เงินได้ – ค่าใช้จ่าย รวมกันก่อนหักค่าลดหย่อนคือ
1,100,000 + 720,000 = 1,820,000 บาท
จากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้วิธีที่ 1 คือ
(เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
ตอนนี้เราจะได้เหลือตามนี้ คือ (1,820,000 – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
พักไว้สักนิด มาดูตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้ วิธีที่ 2 กันก่อนครับ โดยอย่าลืมว่า วิธีคำนวณภาษีแบบนี้จะถูกเอามาคิดก็ต่อเมื่อ เรามีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาทต่อปี หลังจากนั้นเลือกเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า
จากตัวอย่างที่บอกว่านายบักหนอม เป็นมนุษย์เงินเดือน + ขายของออนไลน์ มีรายได้เงินเดือนเดือนละ 100,000 บาท และขายของได้เดือนละ 150,000 บาท สรุปได้อีกทีว่า รายได้จากขายของออนไลน์ต่อปีคือ 1,800,000 บาท ซึ่งแปลว่าต้องคำนวณตามวิธีที่ 2 ด้วย เพราะมีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาท
โดยวิธีนี้คิดง่ายๆ ก็คือ 1,800,000 x 0.5%
ได้ออกมาเป็นภาษี 9,000 บาท
โอเค… เก็บตัวเลข 9,000 นี้ไว้ก่อน
ทีนี้กลับมาดูกันต่อว่าถ้าจะคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1 จะได้เป็นภาษียังไงเท่าไร ซึ่งตอนแรกที่เราคำนวณไว้จากวิธีการคำนวณคือ (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี จะได้เป็น (1,820,000 – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
ถ้าหากนายบักหนอมลองเช็คค่าลดหย่อนตามบทความ สรุปรายการค่าลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 แล้วพบว่าตัวเองไม่มีค่าลดหย่อนอะไรเลยทั้งหมด ไม่ได้ซื้อ LTF, RMF หรือประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี แม้แต่น้อย ดังนั้นนาย
บักหนอมก็ต้องหักได้แค่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว คือ 60,000 บาท จึงทำให้ เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน (เรียกอีกชื่อว่า “เงินได้สุทธิ) เหลือเพียง = 1,760,000 บาท (1,820,000 – 60,000) ทีนี้ก็ต้องคูณด้วยอัตราภาษีตามตารางนี้
จากตารางอัตราภาษี จะเห็นว่า “เงินได้สุทธิ” = 1,760,000 บาท คิดเป็นภาษีที่ต้องเสียได้ทั้งสิ้น 305,000 บาทนั่นเองครับผม
วิธีแรก (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี ได้ภาษีออกมาจำนวน 305,000 บาท ส่วนวิธีที่สอง เงินได้ x 0.5% ได้ภาษีออกมาจำนวน 9,000 บาท เพราะฉะนั้นต้องเสียตามวิธีที่มากกว่า นั่นก็คือ 305,000 บาทนั่นเองครับ
เดี๋ยวก่อน…ยังมีเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มอีกนะ
หลังจากเราเข้าใจวิธีการคำนวณภาษี มาถึงจำนวนที่ต้องเสียแล้ว ทีนี้อีกเรื่องที่ต้องเข้าใจเพิ่มเติม คือ เรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเองครับ
มีคนถามเข้ามาเยอะเหลือเกินว่ามีรายได้ 1,800,000 บาทต่อปีต้องจด VAT ไหมอะไรยังไงดี พรี่หนอมตอบสั้นๆฟันธงไป!! ถ้าเกินล้านแปดเมื่อไรต้องจด VAT ครับผม
ส่วนเหตุผลที่ต้องจดคือกฎหมายกำหนดไว้ว่าถ้าเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อเกิน 1.8 ล้านบาทก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเองครับ
อย่างไรก็ตามมีบางธุรกิจได้รับสิทธิไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกันครับ หากเข้าข่ายว่าเป็น กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ตามที่กฎหมายกำหนดครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้องบอกตรงๆครับว่า “ยาก”
อย่าลืมนะครับว่า
จด VAT = เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่มีรายได้ = เสียภาษีเงินได้
มันคนละเรื่องกัน แต่ต้องทำทั้งสองแบบ
ส่วนเรื่องของการ “จดทะเบียนพาณิชย์” นั้น “ไม่เกี่ยวกับภาษี” ดังนั้นแปลว่าจะทำธุรกิจรูปแบบไหนก็ได้ ส่วนคำว่า “จดทะเบียนบริษัท” นั้นหมายถึงเปลี่ยนจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไปเป็น “การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล” ซึ่งมีวิธีการคำนวณภาษีที่แตกต่างกันไปครับ แต่คนที่เลือกจดทะเบียนบริษัทนั้นอาจจะมีโอกาสที่จะประหยัดภาษีมากกว่า
พรี่หนอมขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้ครับ เช่น นายบักหนอม ขายของในเน็ต ไม่จดทะเบียนพาณิชย์ แต่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท นายบักหนอมก็ต้องจด VAT และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แต่ถ้านายบักหนอมไปจดทะเบียนพาณิชย์ บักหนอมก็ต้องจด VAT และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนเดิม แต่มีทะเบียนพาณิชย์ไว้ให้ลูกค้าตรวจสอบและเพิ่มความน่าเชื่อถือของตัวเอง
หรือต่อให้นายบักหนอมไปจดบริษัทด้วย นายบักหนอมก็ยังต้องจด VAT แต่เปลี่ยนมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนนั่นเองครับ
เมื่อมาถึงตรงนี้ มักจะมีคำถามต่อมาว่า แล้ว ขายของออนไลน์ ควรจะจดบริษัทดีไหม? เพราะอะไรมันบีบมามากมายเหลือเกิน ทั้งนโยบายภาษีที่มีมาเรื่อยๆ ทั้งอีเพย์เม้นท์ พร้อมเพย์ นู่นนั่นนี่ ทุกวันนี้บอกเลยว่าเหนื่อยกับความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบ แบบนี้ทำให้ถูกต้องไปเลยดีไหม
คำตอบนะครับ…การจดบริษัท ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาและไม่ได้บอกว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่มันแค่บอกว่าเราเลือกประกอบธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคลเท่านั้น การเป็นบุคคลธรรมดาขายของง่ายๆก็สามารถเลือกเสียภาษีให้ถูกต้องได้เหมือนกันครับ
ย้ำอีกทีว่า สิ่งถูกต้องที่เราควรรู้ก่อนคือ เรามี รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร/ขาดทุนและกระแสเงินสด มากมายแค่ไหน? ซึ่งพรี่หนอมขอพูดตรงๆเลยนะครับว่า ถ้าเรื่องพวกนี้ยังไม่รู้ ก็แปลว่าไม่มีความหมายที่จะเรียนรู้เรื่องภาษีหรอกครับ การที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสิน มันไม่มีประโยชน์ใด รู้แค่กำไรก็ไม่ใช่ว่าจะจบ เพราะสิ่งที่รู้คือ รู้ทั้งหมดให้ครบถ้วน (ภ.ง.ด.94)
มาต่อที่ด่านสอง คือ การที่รายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต้องไปจด VAT ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกับจดบริษัท และไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับภาษีเงินได้ที่เสียเช่นเดียวกัน การเป็นบุคคลธรรมดาก็สามารถจดภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกันครับ
แต่พรี่หนอมคะ หนูเสียแบบเหมา ให้สรรพากรคำนวณให้ในแต่ละปีแบบนี้ไม่โอเคเหรอคะ ใช่ครับ การที่ให้สรรพากรช่วยคำนวณให้ ไม่ได้แปลว่าเสียภาษีถูกต้องเพราะไม่มีข้อมูลอะไรเลยครับ ดังนั้นย้ำอีกทีเป็นครั้งสุดท้ายว่าต้องรู้ข้อมูลทั้งหมดก่อน แล้วค่อยคิดว่า การเปลี่ยนเป็นบริษัทฯจะคุ้มค่าไหม
ความคุ้มค่าดูจากตัวแปรต่อไปนี้ครับ ภาษีที่ต้องเสีย ค่าใช้จ่ายในการจดบริษัท ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่างๆ เพราะถ้าเสียภาษีลดลง 100,000 บาท แต่เพิ่มค่าใช้จ่ายมาอีก 200,000 บาท แบบนี้ไม่ต้องฉลาดก็รู้ว่าไม่ควรทำ จริงไหมครับ? เพราะกลายเป็นว่าเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกต่างหากครับผม
บทความนี้ พรี่หนอมตั้งใจเขียนเพื่ออธิบายให้ทุกคนรู้จักกับวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ ภาษีที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการจัดการวางแผนและเข้าใจภาษี รวมถึงความเข้าใจผิดต่างๆเกี่ยวกับการจดทะเบียนที่คนมักถามเข้ามาในเพจ TAXBugnoms ครับ ซึ่งเชื่อว่าถ้าหากใครตั้งใจอ่านและคิดตามอย่างละเอียด น่าจะได้อะไรหลายๆอย่างไปปรับปรุงในการจัดการธุรกิจของตัวเองแน่นอนครับ
สุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากจะฝากไว้ คือ จงรู้ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจให้มากที่สุด โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจขายของออนไลน์ เพราะเรื่องภาษีนี่แหละครับ เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายเลยว่า เรานั้นรักและเข้าใจการเงินของธุรกิจมากแค่ไหน
This website uses cookies.