ในขณะที่ธุรกิจกำลังไปได้สวย ภัยเงียบทางการเงินอาจเริ่มก่อตัวขึ้น ผู้ประกอบการที่ดูตัวเลขอย่างสม่ำเสมอ อาจรู้ตัวและหาทางแก้ไขได้ทัน แต่ผู้ประกอบการที่อาจสนุกกับงานขายหน้าบ้านจนลืมมองตัวเลขหลังบ้านคงต้องเครียดกันยกใหญ่ ดังนั้น เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขให้ทันเวลา เรามาดูไปพร้อมๆ กันดีกว่าว่า สัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าธุรกิจกำลังเกิดปัญหาทางการเงิน
สัญญาณเตือน
1. เร่งทำกำไรมากเกินไป เพราะหวังให้ธุรกิจได้กำไรมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้ประกอบการจึงเร่งลงทุนด้วยวิธีการต่างๆ จนลืมคิดไปว่าทุกการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง เพราะหากเลือกลงทุนผิดวิธี ปัญหาทางการเงินแวะมาทักทายแน่นอน ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงิน ผู้ประกอบการจึงควรคิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนลงทุนทุกครั้ง และไม่ควรลงทุนตามกระแสนิยมจนลืมนึกถึงความเป็นไปได้
2. กำไรขั้นต้นลดต่ำ กำไรจะเป็นตัวใช้วัดความสามารถในการจัดการค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ซึ่งหากธุรกิจมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง นั่นแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการทำกำไรของธุรกิจเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่หากเมื่อใดที่อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจต่ำลง นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าธุรกิจกำลังประสบปัญหาทางการเงิน
3. ยอดขายนิ่งหรือลดลง ไม่ว่าจะเลือกทำการตลาดด้วยวิธีใดยอดขายของธุรกิจก็ไม่เพิ่มขึ้น หนำซ้ำยังลดลงจนน่าเป็นห่วง ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องประสบปัญหาทางการเงิน ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งหาวิธีการเพิ่มยอดขายให้ได้โดยเร็ว เช่น การทำประชาสัมพันธ์ การจัดโปรโมชั่นพิเศษ หรือการจัดกิจกรรมให้ลูกค้าได้ร่วมสนุก
4. อัตราการเติบโตของยอดขายลดลง แม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการต้องคอยเช็กอัตราการเติบโตของยอดขายด้วยว่าโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมามากน้อยเพียงใด โดยสัญญาณเตือนว่าธุรกิจกำลังประสบปัญหาทางการเงินจะดังขึ้นก็ต่อเมื่ออัตราการเติบโตของยอดขายโตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา
5. ธุรกิจได้กำไร แต่กระแสเงินสดติดลบ ไม่ว่าจะธุรกิจใดก็เกิดกรณีที่ธุรกิจได้กำไร แต่กระแสเงินสดกลับไม่เพิ่มได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้ คือ การขาดคนที่มีความเข้าใจด้านการเงินมาช่วยวิเคราะห์ตัวเลขทางการเงินของธุรกิจ จึงทำให้ผู้ประกอบการขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา
1. คุณภาพสินค้าและบริการลดลง เมื่อคุณภาพของสินค้าและบริการลดลง ลูกค้าก็เริ่มเทใจไปให้สินค้าและบริการแบรนด์อื่นที่มีคุณภาพตรงตามที่ต้องการ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการให้คงที่และหมั่นพัฒนาคุณภาพอยู่เสมอ
2. สภาพแวดล้อมบริษัทไม่ดี ความสะอาดของบริษัท รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบๆ บริษัทเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากลูกค้าพบว่าห้องน้ำของบริษัทไม่สะอาด บริษัทเต็มไปด้วยขยะ รับรองว่าการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการในครั้งต่อไปของพวกเขาลดลงแน่นอน
3. การรีวิวสินค้า ลูกค้าหลายรายตัดสินใจซื้อสินค้าหลังจากอ่านรีวิวสินค้าจากผู้ใช้สินค้าจริง แต่หากลูกค้ารู้ว่ารีวิวสินค้าที่ตนได้อ่านนั้นเป็นข้อมูลเท็จ พวกเขาย่อมรู้สึกไม่ประทับใจและอาจถึงขั้นเกลียดแบรนด์นั้นๆ จนไม่คิดอุดหนุนอีกต่อไป
Text : กฤษณา สังข์วงค์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)
ที่มา http://money.sanook.com/486871/