มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ต้องถูกหักรายได้เพื่อจ่ายค่าประกันสังคม ในทุกๆ เดือน ซึ่งนอกเหนือจากนั้น นายจ้างเองก็ต้องจ่าย เงินสมทบ เข้ากองทุนทดแทนเป็นประจำทุกปี เพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง มาลองดูว่า หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับการคุ้มครองในด้านใดบ้าง
มาเริ่มต้นจากการรู้จัก ความหมายระหว่าง กองทุนทดแทน และ เงินสมทบ
กองทุนทดแทน คือ กองทุนที่จ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง กรณีลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ตายหรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงาน โดยไม่คำนึงถึง วัน เวลา และสถานที่ แต่จะดูสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนทดแทนประจำปี แต่เพียงฝ่ายเดียว ประเมินจากค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน (คนละไม่เกิน 240,000 บาทต่อปี) คูณกับอัตราเงินสมทบตามประเภทของกิจการนั้นๆ ระหว่าง 0.2 – 1.0 % ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ
การเกิดสิทธิการคุ้มครองของลูกจ้างสิทธิของลูกจ้างจะเกิดขึ้นทันทีที่ลูกจ้างเข้าทำงานให้นายจ้าง
สิทธิต่างๆ ที่ได้รับเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน
1. ค่ารักษาพยาบาล
กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย จะได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงได้ไม่เกิน50,000 บาท ต่อ 1 ครั้ง หากมีเกิดอาการบาดเจ็บเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวง เรื่อง อัตราค่ารักษาพยาบาล ปี 2558 จ่ายเพิ่มอีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 150,000 บาท หากไม่เพียงพอสามารถจ่ายเพิ่มได้อีก 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอสามาถจ่ายเพิ่มได้อีก รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท และหากไม่เพียงพอสามารถจ่ายเพิ่มได้อีกไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยคณะกรรมการทางการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนทดแทนลงความเห็นชอบ
2. ค่าทดแทนรายเดือน
เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน มีการหยุดงาน สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหาย จะได้รับค่าชดเชยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในท้องที่ที่ลูกจ้างประจำทำงานอยู่ และไม่เกิน 12,000 บาทต่อเดือน
2.1 กรณีแพทย์ให้หยุดรักษาตัว มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน กรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน 3 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี แต่จะต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุการพักรักษาตัวติดต่อกันเกิน 3 วัน ขึ้นไป และต้องมีการหยุดพักรักษาตัวจริง
2.2 กรณีสูญเสียอวัยวะ มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี การประเมินการสูญเสียอวัยวะ ลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษา และอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึงปีนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย
2.3 กรณีทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี หากมีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู จะได้รับค่าฟื้นฟูตามกฎหมายกำหนด
2.4 กรณีถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 8 ปี จ่ายให้ผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมาย และค่าทำศพ
3. ค่าทำศพ
ได้รับค่าทำศพ เป็นจำนวน 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจะจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ
4. ค่าฟื้นฟูกรณีมีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู
กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานภายหลังการประสบอันตราย สำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู จะได้รับตามอัตรา ดังนี้
•ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ โดยให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท
•ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และจ่ายค่ากิจกรรมบบำบัดไม่เกินวันละ 100 บาท รวมแล้วไม่เกิน 24,000 บาท
•ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นต้องจ่ายเพิ่มอีกได้ไม่เกิน 110,000 บาท โดยคณะกรรมการพิจารณา และคณกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นชอบ
•ค่าวัสดุอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่รวมแล้วไม่เกิน 160,000 บาท
โดยกฎกระทรวงกำหนดการจ่ายค่าใช้จ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2558 และใช้บังคับรวมถึงลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งอยู่ระหว่างเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานอยู่ในวันก่อนที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยให้ใช้อัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานตามกฎกระทรวงนี้นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป
ถ้าลูกจ้างตายหรือสูญหายใครมีสิทธิได้รับเงินทดแทน : ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีลูกค้าตาย ได้แก่
1 มารดา
2 บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
3 สามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
4 บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
5 บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่กำลังศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตร และได้รับส่วนแบ่งตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่
6 บุตรที่มีอายุ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกจ้างก่อนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย
7 บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย
8 หากไม่มีบุคคลดังกล่าวให้ผู้ที่อยู่ในความอุปการะของลูกจ้างก่อนที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย แต่ผู้อยู่ในความอุปการะดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายและสูญหาย
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
เรียบเรียงโดย : TerraBKK