เจาะลึกโดนใจ!! ทำไมสรรพากรถึงอยากให้เราจดบริษัท (ตอนที่ 2)

หลังจากที่จบกันไปแล้วในตอนที่ 1 เราได้รู้กันแล้วว่า เนื้อหาและสาระของมาตรการนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีเงื่อนไขยังไงที่เกี่ยวข้องกับเรา ซึ่งถ้าใครยังไม่ได้อ่านก็คลิกย้อนกลับไปได้เลยครับที่บทความ เจาะลึกโดนใจ!! ทำไมสรรพากรถึงอยากให้เราจดบริษัท (ตอนที่ 1) คร้าบ

 

โดยผมได้ทิ้งท้ายคำถามสุดท้ายไว้ในตอนที่แล้วว่า แล้วเราจะทำยังไงต่อไปดี? ในเมื่อนโยบายภาษีของทางภาครัฐเองก็รู้เห็นเป็นใจ ตีวงล้อมกรอบให้เราทุกคนต้องเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องเสียยกใหญ่ แบบนี้เราควรจะเลือกแบบไหนและทำอย่างไรดี เราจะได้รู้กันในบทความนี้แล้วล่ะครับ

 

หนึ่งในคำถามของคนทำธุรกิจที่ผมมักจะได้รับอยู่เสมอๆ นั่นคือคำถามที่ว่า “รายได้เท่านี้ควรจดบริษัทดีไหม”หรือ “อยากทำธุรกิจควรจะจดบริษัทดีหรือเปล่า” ซึ่งผมได้เคยเขียนบทความห้าวๆ ท้าพิสูจน์เรื่องนี้ไว้ในบล็อกภาษีข้างถนนแล้วครับว่า จะจดทะเบียนบริษัท “เพื่อประหยัดภาษี” ต้องมีรายได้เท่าไร ? และขอสรุปๆสั้นๆไว้ตรงนี้อีกทีครับว่า ผมมองว่ามี 2 สิ่งที่เราต้องใช้พิจารณา นั่นคือ “อัตรากำไรที่แท้จริงของกิจการ” และ “ต้นทุนในการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น” ซึ่งได้แก่ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าจ้างงาน และค่าจัดการเอกสารต่างๆมากมายเกิดขึ่นหลังจากที่เราตัดสินใจจดบริษัทครับ (ในลิงค์บทความมีตัวอย่างพร้อมคำอธิบายครบครับ ถ้าใครสนใจ แนะนำให้อ่านก่อนได้เลยครับ)

 

แต่เมื่อนโยบายใหม่เรื่อง มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจ กำลังจะมาแบบนี้ โดยแนวโน้มที่มีผลกระทบกับคนทำธุรกิจมากๆ คือ จะมีการลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาของบุคคลธรรมดาเหลือไม่เกิน 60% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป ซึ่งตรงนี้แปลว่าอะไร เรามาดูกันต่อครับ

 

โดยปกติการคำนวณภาษีของธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดา จะใช้วิธีการคำนวณภาษีที่คำนวณจาก “เงินได้สุทธิ” ซึ่งมาจาก (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี ซึ่งจะนำมาเปรียบเทียบกับวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน คือ “รายได้ x 0.5%” และกฎหมายบังคับให้เลือกเสียภาษีตามวิธีที่สูงกว่า (ใครที่ยังไม่เข้าใจตรงนี้ผมแนะนำอ่านบทความใน [ซีรีย์] ภาษีง๊ายง่าย ก่อนเลยครับ)

 

สำหรับคนที่เข้าใจแล้ว เราลองมาดูตัวอย่างกันต่อนะครับ สมมติว่ากิจการ 2 กิจการทำธุรกิจแตกต่างกัน โดยกิจการแรก ชื่อ “ร้านอาหารเก่า” เปิดเป็นธุรกิจร้านอาหาร กับอีกกิจการหนึ่งคือ “ร้านขายเสื้อผ้าคนแก่” เปิดเป็นธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ (แบบซื้อมาขายไป) ถ้าหากทั้งสองกิจการนี้มีรายได้เท่ากันคือ 2 ล้านบาท การคำนวณภาษีตามวิธีเดิมก่อนใช้นโยบายใหม่จะเป็นแบบนี้ครับ

 

E-001  0005 : เจาะลึกโดนใจ!! ทำไมสรรพากรถึงอยากให้เราจดบริษัท (ตอนที่ 2) E 001

หมายเหตุ : กฎหมายกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเหมาสำหรับธุรกิจร้านอาหารไว้ที่ 70% และ ธุรกิจขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไปที่ 80% (ตรวจสอบได้ที่ : ตารางแสดงอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา สำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8) ส่วนค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีรายได้นั้นถูกกำหนดไว้ตายตัวที่ 30,000 บาทตามกฎหมาย

 

แต่ถ้านโยบายใหม่เปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีโดยกำหนดให้ค่าใช้จ่ายเหมาสูงสุดอยู่ที่ 60% แทน (ซึ่งอัตราเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนแปลงต่ำกว่านี้ได้)  แต่กรณีนี้ขอสมมติว่า กฎหมายใหม่ที่ว่าใจดีให้ทั้งสองกิจการนี้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดคือ 60% ตามที่กำหนดไว้ สิ่งที่เปลี่ยนไปจะเป็นดังนี้ครับ

 

E-002  0005 : เจาะลึกโดนใจ!! ทำไมสรรพากรถึงอยากให้เราจดบริษัท (ตอนที่ 2) E 002

โอ้ววว พระเจ้าแจ๊สมันแย่มว้ากกก กลายเป็นว่านโยบายภาษีใหม่จะทำให้ บุคคลธรรมดาต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 2-4 เท่า สำหรับการประกอบธุรกิจแบบเดิมโดยไม่ได้อะไรเพิ่มเติมเลย และแปลว่าธุรกิจเหล่านี้มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีเพิ่มมากกว่าเดิมอีกเพียบบถ้าไม่ยอมย้ายมาทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล เอ้า!! แบบนี้จะทำยังไงดี จดบริษัทเลยดีไหม อีพรี่หนอมมมมมมม

 

เดี๋ยวก่อนครับ อย่าเพิ่งเครียดกันเกินไป ผมอยากให้ทุกคนหยุดคิดสักนิดตามแนวทางเดิมก่อนว่า ตอนนี้ “อัตรากำไร” จริงๆ ของธุรกิจเราเป็นเท่าไร และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเป็นแค่ไหนก่อนครับ ก่อนที่จะรีบไปจดทะเบียนบริษัท โดยทำตามขั้นตอนดังนี้ครับ

 

1. ถ้าไม่รู้กำไร ให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งตรงนี้บางคนอาจจะใช้วิธีประมาณการอย่างคร่าวๆ ดูต้นทุนสินค้า ต้นทุนค่าแรงเทียบกับรายได้ แต่เชื่อผมเถอะครับว่า ถ้าอยากประหยัดภาษีและรายจ่ายจริงๆแล้ว การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายคือทางออกที่ดีที่สุดครับ เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจจริงๆว่า ธุรกิจของเรามีกำไร (ขาดทุน) และกระแสเงินสดเท่าไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ผมว่าสำคัญกว่าภาษีต้องเสียไปอีกครับผม

2. คำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายบริหารคร่าวๆ ดูก่อนว่า ค่าจดบริษัท ทำบัญชี ค่าสอบบัญชีเท่าไร ซึ่งตรงนี้จะทำให้เรารู้ครับว่า เรามีต้นทุนบริหารพวกนี้เท่าไรบ้าง เพื่อที่จะใช้คำนวณจุดคุ้มทุนในการจดบริษัทของเราครับ

 

สมมติว่าธุรกิจข้างต้นนี้ มีกำไรจริงอยู่ที่ 10% ของรายได้เราก็ลองคำนวณครับออกมาได้ 200,000 บาท (10% ของ 2,000,000) ซึ่งตรงนี้ต้องหักค่าภาษีจำนวน 69,000 บาทออกไป ทำให้เราเหลือกำไรจริงเพียงแค่ 131,000 บาทเท่านั้น ถ้าหากเรายังตัดสินใจอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดาเหมือนเดิม

 

ทีนี้มาดูกันต่อว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจการของเราจะเป็นเท่าไรเมื่อจดบริษัท ผมขอสมมติต่อไปครับว่าถ้าหากจดบริษัทแล้ว เราจะมีค่าบัญชี ค่าสอบบัญชี และค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50,000 บาท ตรงนี้ย่อมแปลว่ากำไรจริงๆของเราจะเหลือแค่ 81,000 บาทเท่านั้นซึ่งแปลว่าสามารถจดได้เพราะธุรกิจยังไม่ขาดทุนนั่นเองครับ (ตรงนี้คือหลักการคร่าวๆในการพิจารณานะครับ ต้องมีการปรับวิธีคิดตามความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจด้วยครับ) และผมอยากจะเน้นต่อไปครับว่า ให้คำนวณค่าเสียเวลาของตัวเราเองด้วยในการทำธุรกิจ ที่ต้องใช้เวลามาจัดการเรื่องเหล่านี้ หรือต้นทุนคนที่จะมาจัดการให้เราที่เพิ่มขึ้นครับอาจจะเป็นเงินเดือนพนักงาน ค่าจ้าง หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกมากมาย เมื่อหักลบกันแล้วก็จะได้คำตอบเองครับว่า “คุ้มหรือเปล่าที่จะจดบริษัท”

 

สำหรับสัญญานแรกตรงนี้ คือ ถ้าคำนวณมาถึงจุดนี้แล้วกลายเป็นว่าธุรกิจเราขาดทุน แสดงว่ากิจการของเราอาจจะมีปัญหาได้ในอนาคตแล้วนะครับ แต่ถ้าหากยังไม่ขาดทุน เราจะไปในขั้นตอนต่อไปกันครับ คือ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียเรื่องภาษี เพื่อใช้ตัดสินใจว่าเราควรจดเป็นนิติบุคคลตามที่รัฐเค้าส่งเสริมหรือไม่และอย่างไร?

 

…ตรงนี้คงต้องขอยกยอดไปในสัปดาห์หน้าอีกเช่นเคยครับผม 🙂