หลังจากที่ ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 จบลงไป ผมคิดว่าหลายๆคนน่าจะเข้าใจเรื่องของ นโยบายที่เกี่ยวข้อง และ การประเมินภาษีเบื้องต้น ของตัวเราแล้วนะครับ ทีนี้สิ่งต่อมาคือเรื่องของ “ภาษี” ที่ผมได้ทิ้งท้ายกันไว้ในตอนที่แล้วครับว่า ถ้าหากอยากจดบริษัทขึ้นมาจริงๆ จะประหยัดภาษีได้มากขึ้นแค่ไหนและอย่างไรบ้าง
เอาล่ะครับ… เรากลับมาที่ตัวอย่างธุรกิจเดิมในตอนที่แล้วกันต่อครับ แต่ตอนนี้เราจะลองมาดูให้ลึกไปอีกครับว่า ถ้าหากทั้งสองธุรกิจเลือกที่จะเปลี่ยนมาทำในรูปแบบนิติบุคคลแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และจะประหยัดภาษีได้เท่าไร เรามาลองดูกันครับผม
หมายเหตุ :
กรณีบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเหมาสำหรับธุรกิจขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไปที่ 80% (ตรวจสอบได้ที่ : ตารางแสดงอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา สำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8) และคาดการณ์กรณีนโยบายใหม่ให้หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดในอัตราเหมา 60% ส่วนค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีรายได้นั้นถูกกำหนดไว้ตายตัวที่ 30,000 บาทตามกฎหมาย
กรณีนิติบุคคล คำนวณจากกำไรสุทธิจริง โดยสมมติว่าไม่มีการปรับปรุงรายการทางภาษีใดๆ (อ่านบทความอธิบายเรื่องนี้ได้ที่ : ทำไมธุรกิจขาดทุนถึงยังต้องเสียภาษี นี่คือเหตุผลที่คุณต้องอึ้ง!!) โดยใช้อัตราภาษีของกิจการที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษี (SMEs) ดังนี้
จากตารางข้างบน ถ้าหากเราเปรียบเทียบเฉพาะ “ภาษี” จะเห็นใช่ไหมครับว่าการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) นั้นดูจะประหยัดภาษีมากกว่า แต่เดี๋ยวก่อนครับ!! มันยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะเราต้องไม่ลืมอีก 2 เรื่องที่จะตามมา คือ
1. ค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียเพิ่มเติม กรณีที่เราตัดสินใจเลือกจดทะเบียนบริษัทด้วย นั่นคือ ค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มเติมเข้ามาอย่าง ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าใช้จ่ายด้านธุรการต่างๆอีกด้วยครับ
2. กรณีเลือกคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามวิธีค่าใช้จ่ายจริง (ค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร) ซึ่งตรงนี้เป็นการคาดการณ์ของผมนะครับว่า นโยบายภาษีใหม่เรื่อง มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล ที่ว่านี้ยังไม่ได้จำกัดให้กิจการที่มีเงินได้ประเภทที่ 8 (รายได้จากการทำธุรกิจ) เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเพียงอย่างเดียว แต่สามารถหักตามค่าใช้จ่ายจริงได้ด้วย ดังนั้นเราต้องมาเปรียบเทียบกันทั้ง 2 กรณีหลังจากที่มีนโยบายใหม่อีกทีครับ
หมายเหตุ
1. กำหนดให้ค่าใช้จ่ายจริงทั้งทางบุคคลธรรมดาและจดบริษัท (นิติบุคคล) มีจำนวนเท่ากัน
2. ธุรกิจบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสอบบัญชี แต่ประเมินว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการเอกสารเท่ากันกับนิติบุคคล (ในความเป็นจริงอาจจะต่ำกว่า)
เมื่อเปรียบเทียบมาถึงตรงนี้จะเห็นว่าสิ่งที่มีผลจริงๆนั้น มีอยู่หลายประเด็นครับ ซึ่งถ้าหากผมลองเปลี่ยนโจทย์ใหม่ให้กิจการตัวอย่างมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านบาท เราจะเห็นความแตกต่างในเรื่องของภาษีมากขึ้น และตอนนั้นค่าใช้จ่ายในเรื่องของการบริหารและจัดการก็อาจจะกลายเป็นส่วนที่มีผลกระทบน้อยในการตัดสินใจนั่นเองครับ
เมื่อรายได้เปลี่ยนเป็น 10 ล้านบาท จะเห็นความแตกต่างของภาษีที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ระหว่างการเปลี่ยนนโยบายการหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (เฉพาะการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา) กับ การเสียภาษีเงินได้ในรูปแบบนิติบุคคล จะเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนของจำนวนภาษีมากๆแล้วครับ (ซึ่งถือว่าคุ้มค่าในการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิติบุคคลเพื่อประหยัดภาษี)
สรุป
มาถึงตรงนี้ คำถามที่ใครหลายคนถามกันว่า ทำธุรกิจแล้วควรจะจดบริษัทดีไหม ผมก็ยังยืนยันคำตอบเดิมตามที่เคยเขียนในบทความที่ผ่านๆมาครับว่า “ไม่รู้” (อ้าว!) แต่ผมขอให้ความเห็นในประเด็นสำคัญที่ต้องดูออกเป็น 3 เรื่องดังนี้ครับ
1. รายได้และกำไร ถ้ารายได้เยอะ กำไรสูง แบบนี้การจดบริษัทฯจะช่วยประหยัดภาษีมากกว่า แต่ทีนี้เท่าไรล่ะถึงเรียกว่าสูงและคุ้ม คำตอบคือคุณต้องรู้ก่อนครับว่า รายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรที่แท้จริงของธุรกิจเราเป็นเท่าไรกันแน่ (ลองคำนวณดูคร่าวๆตามวิธีที่ผมบอกก็ได้ครับ)
2. ค่าใช้จ่ายในการบริหารมากแค่ไหน ถ้าโดยรวมเมื่อพิจารณากับภาษีที่ประหยัดได้ในข้อ 1. แล้ว ตัวเลขออกมายังคุ้มอยู่ (ประหยัดภาษีที่ประหยัดได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น) แบบนี้ก็ตัดสินใจได้เลยครับว่าควรจด
3. สุดท้ายคือ ใจพร้อม! สิ่งที่ผมอยากจะย้ำมากๆในการทำธุรกิจแบบนิติบุคคลนั้น คือ เรื่องของ “ความรับผิดชอบ” และการจัดการครับ เพราะหน้าที่ต่างๆของเราที่เกี่ยวข้องนั้นจะเพิ่มเข้ามามากมาย ตั้งแต่งานเอกสาร งานจัดการต่างๆ อะไรที่ไม่เคยทำตอนเป็นบุคคลธรรมดา พอมาเป็นนิติบุคคลแล้วอาจจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจมันให้ดียิ่งๆขึ้นครับ และที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องมองให้ออกด้วยว่าอนาคตของกิจการเราจะเป็นอย่างไร ถ้าคิดจะทำเพียงชั่วคราว แบบนี้อาจจะไม่เหมาะเท่าไรครับผม
ผมมองว่าทั้งข้อ 1-3 นั้นมีส่วนร่วมกันอยู่นิดนึงครับ นั่นคือ “วินัย” ในการจดบันทึกรายรับรายจ่าย การสังเกตจัดเก็บเอกสารต่างๆ ไปจนถึงการเตรียมพร้อมด้านธุรกิจ ยิ่งถ้าหากเราทำได้ทั้ง 1-2 แล้ว แน่นอนว่ามันจะส่งผลถึงข้อ 3 ให้เราจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้นครับ
สุดท้ายแล้วผมว่าบทความทั้ง 3 ตอนนี้คงจะได้ข้อคิดและพอมองเห็นแนวคิดในการทำธุรกิจได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สำหรับบทความในชุดนี้คงต้องจบกันไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ เอาไว้ต่อกันในตอนหน้ากับเรื่องการเงินใหม่ๆที่ควรรู้ ยังไงฝากกดติดตามให้กำลังคนเขียนกันด้วยนะครับที่เพจ TAXBugnoms คร้าบบบบ