จากที่ ร่างพรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ที่ได้ถูกปรับปรุงจาก พรบ.คอมพิวเตอร์ปี 2550 เพื่อให้ทันสมัย และทันต่อเทคโนโลยีมากขึ้น และ ผ่านการเห็นชอบโดย สนช. เรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมาและลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อช่วงต้นปี เป็น พรบ.คอมพิวเตอร์ ปี 2560 ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ภายใน 24 พฤษภาคมนี้ สิ่งที่ตามมาคือคำถามมากมายเกี่ยวกับกฎหมาย พรบ.คอม ที่เปลี่ยนแปลง เป็นธรรม เหมาะสมหรือไม่ และต้องปรับตัวอย่างไรไม่ให้ผิด พรบ.คอม
ทางสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้จัดงานเสวนา WebPresso จิบกาแฟ หัวข้อ “เรียนรู้ และอยู่ให้เป็นกับการใช้คอมพิวเตอร์ให้ไม่ผิดต่อ พรบ.คอมพิวเตอร์ 2560″ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรด้านกฎหมาย พรบ.คอม และ เชิญนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หลัง พรบ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่เตรียมประกาศใช้
อ.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า “สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจาก พรบ.คอม ฉบับใหม่ เมื่อเทียบกับ พรบ.คอม ฉบับเก่า นั้น ออกมาเพื่อแก้ปัญหาเก่าๆในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ พรบ.คอมพิวเตอร์ปี 2550 บังคับใช้คือ แก้ปัญหาหมิ่นประมาทออนไลน์ เห็นความแตกต่างง่ายๆ
- ถ้าฟ้องหมิ่นประมาทโทษมันน้อย ถ้าฟ้องด้วย พรบ.คอม โทษหนัก 5 ปี อายุความมันนานกว่าโทษหนักกว่า
- ฟ้องหมิ่นประมาท ตามกฎหมายไทยไม่มีกระบวนการเรียก Log file ได้ แต่ถ้าฟ้องด้วย พรบ.คอม ขอเรียก Log File ย้อนหลังมาพิสูจน์ได้
ง่ายๆคือใช้ความกำกวมของกฎหมายให้เป็นประโยขน์ในการฟ้องร้อง ก็เลยมีการแก้ ร่างพรบ.คอม ให้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อไม่ให้มีเรื่องเกี่ยวกับหมิ่นประมาทอยู่ใน พรบ.คอม อีก
ปี 2550 มีปัญหาเรื่องสแปม ปัญหาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีปลอม ip address แต่ส่งสแปมตรงไปเลย ขายตรงผ่าน sms ผ่าน line ในเมื่อส่งกันจริงแก้ไขไม่ได้ ในพรบ.คอมพิวเตอร์ ปี 2560 ได้เพิ่มวรรค 2 คือ
- ห้ามส่งสแปมเด็ดขาด ส่งสแปมไม่ได้เลย ถ้าจะส่งต้องขออนุญาตผู้ใช้ก่อน
- ถ้าผู้ส่งแอบส่งสแปมโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งอีเมล sms line Social Network โดนปรับ ข้อความละ 2 แสนบาท
- ถ้ากรณีผู้ส่งสแปมส่งไป แล้วเราอนุญาตให้เค้าส่งสแปมได้ ต้องมีฟีเจอร์ block หรือ ยกเลิกการรับสแปมได้ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
คุณอภิศิลป์ กล่าวว่า ในตัว พรบ.ใหม่ จะมีข้อที่เพิ่มเติมขึ้นมา 2 ย่อหน้า ให้เว็บต้องมีกำหนดมาตรการแจ้งเตือนลบกระทู้ไม่เหมาะสม หรือที่ก่อให้บุคคลเสียหาย แจ้งเจ้าของเว็บได้ และเมื่อเจ้าของเว็บลบแล้ว จะพ้นการรับโทษ ไม่มีความผิด การกลั่นแกล้งออนไลน์ก็จะน้อยลง
เรื่องการขอ Block เว็บไซต์นั้น จะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง 9 คนในการพิจารณา Block เว็บไซต์ โดย 9 คนนี้จะพิจารณาสำหรับปิด Block เว็บไซต์ที่ไม่ผิดกฎหมายแต่มีคนร้องเรียนเข้ามาให้ขอปิด ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าของเว็บมาชี้แจงแทนที่จะโดน Block ทันที
ประเด็นที่เป็นปัญหาที่ถามกันเยอะ กรณี Block เว็บถูกกฎหมาย โดยมีพบข้อความที่ผิดกฎหมาย พรบ.คอม ผิดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันและความมั่นคง ยังคงมีเหมือนเดิม แต่เพิ่ม 2 ส่วนคือ ผิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และ ผิดกฎหมายอื่นๆเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ( เช่น การทำแท้ง ยาเสพติด ค้ามนุษย์ การพนัน ) ซึ่งทั้งหมดนี้ Block ได้ทันที โดยเรื่องการขอ block กรณีผิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ต้องขอที่ศาลทรัพย์สิน
เรื่องการลบข้อมูลออกจากคอมพิวเตอร์ เวลาเค้าคนนั้นมีคดี ข่าวร้ายมักขึ้นเป็นข่าวเด่นหน้า 1 อยู่เสมอ แต่พอศาลยกฟ้อง กลับเงียบๆไม่มีใครแก้ข่าวเลย เวลาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเค้าคนนั้นจะรันเรื่องราวในอดีต ก็กลับโดนกลั่นแกล้งจากข้อมูลเก่าที่เป็นคดีอยู่ทั้งๆคดีนั้นศาลยกฟ้องไปแล้ว เค้ามองที่ google ว่าทำไมไม่ลบออก ใน
กรณีศาลออกคำพิพากษาตัดสินสิ้นสุด พวก Google ต้องลบออกจากระบบ รวมถึงพวกสื่อข่าวออนไลน์ด้วย ผู้เสียหายต้องนำผลพิพากษาไปให้สื่อออนไลน์เพื่อใช้แจ้งลบออกจากระบบ เพื่อแก้ปัญหาคนถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์
ผู้ใช้งานทั่วไปจะใช้ชีวิตอย่างไรไม่ให้ผิด พรบ.คอมพิวเตอร์
อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า “ในมุมผู้ใช้คอม ก็ใช้งานคอมปกติ แต่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังมากขึ้น หากในมุม Hacker นั้น กฎหมายดำเนินคดีเหมือนเดิม เพิ่มโทษให้มากขึ้น เช่นทำ DDOS ทำคนอื่นเสียชีวิต ซึ่งเป็นไปได้ยากมากในการพิสูจน์หลักฐาน”
เรื่องปัญหาที่หลายท่านกังวลรัฐบาลจะเจาะรหัส SSL เพื่อแอบดูข้อมูลต่างๆเช่นข้อมูลการเงินนั้น
สรุปคือรัฐไม่สามารถทำได้หากจะทำต้องมีหมายศาลก่อน และความจริงเป็นเรื่องเดิมใน พรบ.คอมพิวเตอร์ ปี2550
ผู้ประกอบการเว็บไซต์กระทู้ ต้องมีประกาศคือ
ต้องมี Notice Takedown ( User Agreements ) และข้อตกลงเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ผู้ประกอบการเว็บรอดพ้นจากการถูกฟ้องร้อง แต่ที่แน่ๆคือการประกาศขายของ ผ่าน Instagram เป็นสแปมนี้จะลำบากมากขึ้น เพราะกฎหมาย พรบ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้
การกด Like สถานะบน facebook ที่เห็นด้วยกับข้อความเสี่ยงผิดกฎหมาย ถือว่าผิด พรบ.คอมมั้ย ?
ความจริงแล้วคือกด Like ไม่ผิดกฎหมายเพราะเป็นสิทธิเสรีภาพความเห็นตัวเองว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกรณีนี้ แต่ด้วยกลไกว่าการกด like จะทำให้คนอื่นเห็นความเห็นเราใน feed ด้วย ขึ้นอยู่กับเจตนาเพื่ออะไร ส่วนการแชร์ต่อเกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมายนี้ ถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน
พรบ.คอมพิวเตอร์นั้น ไม่ใช่ พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์
เรื่อง พรบ.คอม ช่วยให้รัฐบาลสามารถดูข้อมูลใดๆของผู้ใช้คอมก็ได้ เรื่องนี้ไม่จริง ยังคงเหมือนเดิมตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ปี 2550 หากต้องการดูข้อมูลคนอื่นต้องมีหมายศาลเท่านั้น แต่ก็ยังจับตาว่าจะมี พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์จะเกิดขึ้นด้วยหรือไม่ ถ้าเกิดนี่เรื่องใหญ่แน่นอนยิ่งกว่า พรบ.คอมพิวเตอร์
สำหรับรายละเอียดนั้นสามารถชมเทปวีดีโอ Live Stream 3 คลิปได้ที่เพจ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย คลิปที่ 1 , คลิปที่ 2 , คลิปที่ 3