สาระธุรกิจ

9 สเต็ป วางแผนการเงิน


STEP 1 : ค้นหาแรงบันดาลใจและเป้าหมาย

– เราต้องการอะไรในอนาคต? (การแต่งงาน, มีลูก, มีรถ, มีบ้าน, ทุนการศึกษา, อิสรภาพของชีวิต(เกษียณ))

– ทำไมเราถึงต้องการสิ่งนั้น? (อยากมีครอบครัว, อยากมีความมั่นคงในชีวิต, อยากใช้ชีวิตอย่างหมดกังวลหลังเกษียณ, อยากมีอิสรภาพทางการเงิน) ไม่มีไม่ได้เหรอ? มันจำเป็นขนาดไหน? ถ้าไม่ได้แล้วชีวิตจะเป็นยังไง?

ขั้นตอนแรกนี้ผมถือว่าสำคัญที่สุดครับ สำคัญยิ่งกว่าความรู้ใดๆทั้งหมด เพราะถ้าเป้าหมายไม่ชัดเจน ไม่มีเหตุผล ไม่มีความหนักแน่น จะทำให้เราไม่มีแรงผลักดันที่มากพอจะพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายทางการเงินที่ต้องใช้เงิน ทำให้เราต้องหาเงิน ต้องอดทน ต้องอดออม ต้องมีวินัย อย่างต่อเนื่อง (บางเป้าหมาย เช่น เกษียณอายุ หรือมีอิสรภาพทางการเงินและชีวิต อาจจะใช้เวลาถึง 10-20 ปี) ถ้าเราไม่มีเหตุผลและความรู้สึกที่ชัดเจน หนักแน่น ต่อเป้าหมายมากพอ หรือเป็นเป้าหมายที่เราไปหยิบยืมความฝันของคนอื่นมา (เช่น อยากมีเงิน 100 ล้าน เพราะคิดแค่ว่ารวยดี อยากมีอิสรภาพทางการเงิน เพราะอยากสบาย ฯลฯ) ไม่มีวันจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้แน่นอน เราจะท้อแท้ และล้มเลิกกลางทางไปซะก่อน เพราะเรารู้สึกว่า ถึงไม่ได้มันมา เราก็ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่

อย่างที่มีคนกล่าวไว้ “ถ้าความต้องการมากพอ เดี๋ยววิธีการจะตามมาเอง”

เรามีความต้องการที่มากพอกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม? ลองถามตัวเองดูครับ

 

STEP 2 : ระบุเป้าหมายอย่างละเอียด

– เป้าหมายนั้นราคาเท่าไหร่? (ค่าจัดงานแต่ง, ราคารถ, ราคาบ้าน, มูลค่าทุนการศึกษา, จำนวนเงินที่ต้องเตรียมเพื่อการเกษียณ, มูลค่าทรัพย์สินที่ต้องมีทั้งหมด เพื่อให้มีอิสรภาพ)

– ต้องการบรรลุเป้าหมายนั้นในอีกกี่ปีข้างหน้า?

ที่ต้องรู้ ก็เพราะการมีตัวเลข จะทำให้เราสามารถ “วัด” ได้ ว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายไปเท่าไหร่แล้ว และ “เหลือ” (จำนวนเงิน, เวลา) อีกเท่าไหร่ ที่เราต้องไปให้ถึง หากไม่มีตัวเลข หรือตัวเลขไม่ชัดเจนแล้ว เราจะไม่สามารถวัดผลได้เลย

ดังนั้น บางทีเราอาจจะต้องรู้วิธีการคำนวณหาเงินเป้าหมายก่อน (หรือใช้เครื่องมือ หรือโปรแกรม ช่วยคำนวณก็ได้)

 

STEP 3 : กลับมาสำรวจตัวเองในปัจจุบัน ด้านการเงิน และการงานส่วนตัว

ด้านการเงิน

– จัดทำงบกระแสเงินสด (ประเมินรายได้, รายจ่าย, เงินออม ต่อเดือน ต่อปี เท่าไหร่? หักลบกัน คงเหลือเท่าไหร่? เพื่อสำรวจ “พฤติกรรม” การใช้จ่ายของตัวเอง ว่าเราใช้จ่ายเกินตัวไหม? เราใช้จ่ายกับอะไรเป็นส่วนมาก? แล้วรายจ่ายเหล่านั้นจำเป็นไหม ปรับลดได้ไหม? รายได้ที่เรามีเทียบกับรายจ่ายแล้วน้อยเกินไปรึเปล่า? จะมีวิธีการเพิ่มรายได้ยังไงได้บ้าง

– จัดทำงบความมั่งคั่งสุทธิ (สินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมด(เงิบเก็บสภาพคล่อง, เงินลงทุน, ทรัพย์สินส่วนตัว), หนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด (หนี้สินระยะสั้นเช่นบัตรเครดิต, หนี้สินระยะยาวเช่น หนี้บ้าน หนี้รถ) มีอะไรบ้าง? มีอยู่เท่าไหร่? หักลบกันแล้ว สินทรัพย์มากกว่าหนี้สินเท่าไหร่? นั่นคือความมั่งคั่งสุทธิของเรา หรือมูลค่าฐานะทางการเงินที่แท้จริงของเรานั่นเอง เพื่อหาคำตอบว่า “เรามีความมั่นคงทางการเงิน” มากน้อยแค่ไหน

ด้านการงาน

– งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันคืองานอะไร? เรารู้สึกยังไงกับงาน? ชอบหรือไม่ชอบ? มีความสุขกับงานที่ทำรึเปล่า? รายได้เท่าไหร่? เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายไหม? ทำให้เหลือเงินเก็บอย่างพอเพียงรึเปล่า?

ที่ต้องสำรวจด้านการงานด้วย ก็เพราะว่า งาน ถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในชีวิตเลยใช่ไหมล่ะครับ? เราจะมีเงินได้ ก็เพราะว่าเราต้องทำงาน ถ้าไม่มีงานเราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย มาออม มาลงทุน? ถ้าเรายังทำงานได้ไม่ดีพอ รายได้ที่เราหาได้ จะสูงพอที่จะนำไปบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้หรือเปล่า? ดังนั้น ยิ่งมีเป้าหมายสูง ไลฟ์สไตล์สูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งต้องทำงานให้ดี หาเงินให้เก่งขึ้นตามไปด้วย ถึงจะบรรลุเป้าหมายได้ (ซึ่งก็แล้วแต่ชีวิต และความต้องการของแต่ละคนนะครับ บางคนต้องการน้อย ใช้น้อย ก็อาจจะไม่อยากดิ้นรนเพื่อหาเงินให้มากขึ้นก็ได้)

 

STEP 4 “ทำงานที่รัก รักงานที่ทำ” : จัดการกับชีวิตการงานของตัวเองให้ลงตัวซะก่อน

– ถ้ามีความสุขกับงานที่ทำ รายได้เหมาะสมแล้ว แสดงว่ารากฐานชีวิตของเราก่อนจะวางแผนการเงิน มั่นคงดีแล้ว

– ถ้าไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ต่อให้รายได้มากขนาดไหน เพียงพอต่อการบริหาร และวางแผนการเงินขนาดไหน บางที ระหว่างการเดินทางสู่เป้าหมายทางการเงิน ก็อาจไม่มีความสุขได้

– ถ้าไม่มีความสุขกับงานที่ทำ รายได้ก็ไม่เท่าที่หวัง ควรจะลองค้นหาตัวเองเพื่อหางานที่เหมาะสมกับเราให้ได้

– เราถนัดอะไร? เราชอบทำอะไร? อะไรที่เวลาเราทำแล้วมีความสุข? อะไรที่เวลาเราทำแล้วมีคนชอบ มีคนชื่นชม มีคนขอบคุณ? ให้เริ่มจากการพัฒนาทักษะในสิ่งนั้น

– แต่บางครั้ง การต้องฝืนทำอะไรในสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง (แม้จะเป็นอาชีพที่เราทำแล้วมีความสุข แต่มันก็จะต้องมีสิ่งที่เราไม่อยากทำ หรือเป็นอุปสรรคบ้างอยู่แล้วล่ะ) ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าผ่านมันมาได้ซ้ำๆ จะทำให้เราเกิดความ “ภาคภูมิใจในตัวเอง” ว่าแม้แต่เรื่องยากๆ เราก็ผ่านมันมาได้แล้ว ไม่มีใครดูถูกเราเรื่องนี้ได้

ทำไมผมถึงให้ความสำคัญกับงานมาก? เพราะผมเชื่อว่า เราใช้เวลา 1/3 ของชีวิตไปกับการทำงาน เพราะฉะนั้น ถ้างานไม่ดี ไม่โอเคกับการทำงาน กับรายได้ที่หาได้ ยากมาก ที่จะมีการเงินที่ดี เพราะถ้ารายได้น้อยเกินไป เราจะไม่เหลือเงินออมมาวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หรือถ้าเราไม่มีความสุขกับการทำงาน ทำงานหนักเกินไป เครียดอยู่บ่อยๆ เราก็มีแนวโน้มที่จะเอาเงินที่หามาได้ไปใช้จ่าย กิน เที่ยว ช็อปปิ้ง เพื่อหาความสุขจากการบริโภคมาทดแทนความสุขที่เสียไปจากการทำงาน ก็ยิ่งทำให้เรามีโอกาสเหลือเงินเก็บมาวางแผนการเงินในอนาคตน้อยลงไปอีก

เพราะฉะนั้น การได้ทำงานที่ดี มีความสุข มีรายได้ที่เหมาะสม สามารถพัฒนาตัวเอง เพื่อเพิ่มรายได้อย่างสม่ำเสมอ คือสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการวางแผนการเงินครับ

 

STEP 5 “มีเงินเหลือเก็บ” : รากฐานของการวางแผนการเงิน คือวินัยทางการเงินที่ดี

– ไม่ว่าเรากำลังทำงานที่รักหรือไม่ ขณะที่เรากำลังค้นหางานที่ใช่ เราก็ต้องบริหารการใช้จ่ายส่วนตัวไปพร้อมๆกันด้วย

– ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงกับรายได้ที่หามา ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินตัว บริหารเงินให้รายจ่ายน้อยกว่ารายได้ที่หามา ให้เหลือเงินเก็บให้ไ้ด้

– หากมีหนี้ที่เกิดจากการบริโภคหรือหนี้ระยะสั้น ยังไม่ต้องคิดเรื่องอื่น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้น้อยที่สุด เจรจาประนอมหนี้ แล้วหาทางเคลียร์หนี้สินให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

– สะสมเงินเก็บให้มีเงินสำรอง อย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน (สำหรับคนที่ทำงานประจำ) หรืออาจจะถึง 10-12 เท่า สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ เพื่อเป็นเงินก้อนเผื่อเหตุฉุกเฉิน (เช่น ตกงาน หางานไม่ได้ มีเหตุต้องใช้เงินก้อนใหญ่กะทันหัน)

– เปลี่ยนแนวคิดจาก “หามาได้ ใช้จ่าย เหลือเท่าไหร่ค่อยเก็บเท่านั้น” มาเป็น “หามาได้ ตัดเก็บตามที่ตั้งใจไว้ก่อนเลย เหลือเท่าไหร่ค่อยใช้เท่านั้น” แทน เพื่อป้องกันการเก็บเงินไม่อยู่ โดยการใช้เครื่องมือในการเก็บเงินอัตโนมัติเข้าช่วย เช่น สมัครใช้ระบบตัดเงินจากบัญชีเงินเดือน ไปบัญชีเงินออมที่ถอนได้ยาก หรือในบัญชีเงินลงทุน อัตโนมัติ ทุกๆเดือน จะทำให้เราสามารถออม/ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ มีวินัย โดยที่เราแทบไม่รู้สึกว่าต้องบังคับตัวเองอะไรเลย

 

STEP 6 “ปกป้องเงินที่หามาและเงินออมที่มีอยู่” : ปิดความเสี่ยง อุดรอยรั่วทางการเงิน ด้วยการทำประกัน

– เมื่อมีเงินเหลือ อุตส่าห์เก็บสะสมเงินที่หามาได้ ก็ควรปกป้องเงินเก็บดังกล่าว ไม่ให้สูญเสียไปกับกรณีไม่คาดฝันที่อาจจะทำให้เราต้องสูญเสียเงินเก็บจำนวนมาก เช่น รถชน, ไฟไหม้, บาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุ, ป่วยเป็นโรคร้ายแรง, ต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล จนทำให้กระทบกับเงินส่วนตัว หรือเป็นภาระคนใกล้ตัว

– ถ่ายโอนความเสี่ยงเหล่านี้ให้กับบริษัทประกัน ด้วยการทำประกันรถยนต์, ประกันอัคคีภัย, ประกันทรัพย์สินต่างๆ, ประกันสุขภาพ, ประกันโรคร้ายแรง และประกันชีวิต โดยการจ่ายเบี้ยประกันให้เหมาะสม เพื่อเป็นการตีกรอบความเสียหายให้อยู่ในขอบเขตที่เราบริหารจัดการได้ คือแค่เท่าเบี้ยประกันในแต่ละปี

 

STEP 7 “ลงทุน” : เพื่อเพิ่มพูดความมั่งคั่ง ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

– เมื่อรากฐานการเงินแข็งแรง เงินที่หามาได้ ได้รับการปกป้องแล้ว ก็สามารถเดินต่อไปได้อย่างอุ่นกายสบายใจ ด้วยการหาวิธีเพิ่มพูดความมั่งคั่งที่มีอยู่ เพื่อพาตัวเองไปสู่จุดหมายที่ต้องการ

– จากการที่เราวางเป้าหมายทางการเงินแล้ว รู้เป้าหมายราคาเท่าไหร่ ก็มาคำนวณว่า อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมกับเวลาลงทุน และความเสี่ยงที่เรารับได้เป็นเท่าไหร่? เพื่อหาจำนวนเงินลงทุนที่เหมาะสม

– วางแผนจัดทำกลยุทธ์การลงทุนหลัก (Strategic Asset Allocation : SAA) เพื่อออกแบบพอร์ตการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเรา โดยมีการกระจายการลงทุนไปสู่สินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามสัดส่วนที่กำหนด

– อาจจะวางแผนการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุน (Tactical Asset Allocation : TAA) สำหรับการบริหารพอร์ตการลงทุนระหว่างที่เราลงทุน ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น หุ้นตก, อัตราดอกเบี้ยปรับตัว ฯลฯ เพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยง โดยการปรับสัดส่วนที่กำหนดไว้ ในขอบเขตที่เหมาะสม (ศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อน อย่ากระโจนไปทำมั่วๆ ตามกระแส หรือคำแนะนำของคนอื่นโดยไม่ได้วิเคราะห์เอง)

– เมื่อวางแผนกลยุทธ์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการคัดเลือกหลักทรัพย์เข้ามาในพอร์ตการลงทุน หุ้นตัวไหนที่เหมาะสม?, กองทุนไหนที่ตอบโจทย์? โดยการคัดเลือกก็ต้องใช้วิธีวิเคราะห์ ทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หาราคาที่เหมาะสมสำหรับการซื้อ รวมไปถึง การวิเคราะห์เชิงเทคนิค หาจังหวะเวลาเหมาะสมที่จะเข้าซื้อ รวมถึงคำนวณหาราคาขาย และจังหวะขายที่เหมาะสม ตามสถานการณ์ หรือเวลาที่เริ่มจะใกล้ถึงเป้าหมาย

 

STEP 8 รู้จักบริหารจัดการ “ภาษี” : เพื่อดึงรายได้กลับมาอย่างถูกกฎหมายอีกทางหนึ่ง

– สำรวจรายได้ว่า เรามีรายได้อยู่ในหมวดไหนบ้าง? (40(1) – 40(8)) มีโอกาสใช้ค่าลดหย่อนอะไรบ้าง ที่เรามีสิทธิ์ใช้ได้? (หักค่าใช้จ่าย, ส่วนตัว, คู่สมรส, บุตร, บิดามารดา, ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพบิดามารดา, RMF, LTF, PVD, กบข., ประกันสังคม, เงินบริจาค, เลี้ยงดูผู้พิการ, ดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน, ท่องเที่ยว ฯลฯ) และมีสิทธิ์ใช้ได้สูงสุดเท่าไหร่?

– มีโอกาสที่เราสามารถปรับโครงสร้างรายได้ เพื่อเปลี่ยนหมวดรายได้ ไปยังหมวดรายได้ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงขึ้นได้ไหม?

– อย่าลืมว่า ภาษี เป็นเพียง “สิทธิ์” ในการหารายได้เพิ่มเติม ไม่ใช่ “เงื่อนไขที่จำเป็น” ที่ทุกคนต้องทำเพื่อให้ได้ค่าลดหย่อนที่มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหาที่อาจจะตามมาต่อการเงินด้านอื่นๆ (เช่น ซื้อประกันชีวิต, RMF, LTF เต็มแม็ก เพื่อให้ได้ลดหย่อนสูงสุด แต่ไม่คำนึงเลยว่า ซื้อมากเกินความเหมาะสมหรือไม่ เป็นรายจ่ายที่มากเกินไปรึเปล่า) ดังนั้น ให้ตั้งเป้าหมายที่เป้าหมายการเงินก่อน ภาษีที่ลดหย่อนได้จากค่าลดหย่อนที่ซื้อได้ ถือเป็นของแถม

 

STEP 9 วางแผนส่งต่อทรัพย์สินให้คนข้างหลังอย่างเหมาะสม

– ตลอด 8 ขั้นที่ผ่านมา คือการวางแผนเงินทอง “เมื่อเรายังมีชีวิต” อยู่ แต่ในสเต็ปนี้ คือการวางแผนเงินทอง “เมื่อเราจากไปแล้ว” เพื่อให้เกิดความสงบ เรียบร้อย ไม่มีปัญหา แก่คนที่อยู่ข้างหลัง ทั้งในเรื่องของ การแก่งแย่ง ทะเลาะเบาะแว้ง หรือภาระภาษีที่ต้องจ่าย

– จัดทำพินัยกรรม, ธรรมนูญครอบครัว, วางแผนมรดก, วางแผนภาษีมรดกและภาษีการให้, ภาษีที่ดิน ให้ถูกต้องเหมาะสม

 

ที่มา

admin

Share
Published by
admin
Tags: จดทะเบียนบริษัทcovid2564จดทะเบียนบริษัทบุคคลรายได้เยอะจดทะเบียนบริษัทสรรพกรเรียกจดทะเบียนบริษัทโควิด2021ที่ปรึกษาทางกฎหมายปิดงบการเงินCovid-19ปิดงบการเงินช่วงโควิด19ปิดงบการเงินย้อนหลังปิดงบการเงินโควิด-19ปิดงบย้อนหลังหลายปีปิดงบเปล่าย้อนหลังยื่นงบการเงินล่าช้ายื่นงบย้อนหลังยื่นภาษีย้อนหลังยื่นภาษีร้านค้ารับจดทะเบียนบริษัท ซื้อที่ดินต่างชาติรับจดทะเบียนบริษัท ซื้อบ้านต่างชาติรับจดทะเบียนบริษัทดูช่วงเวลาดีรับจดทะเบียนบริษัทดูฤกษ์รับจดทะเบียนบริษัทวันดีรับจดทะเบียนใกล้ฉันรับจัดการมรดกรับทำบัญชีชาวต่างชาติรับทำพินัยกรรมรับปิดงบการเงินชาวต่างชาติรับปิดงบบริษัทต่างชาติ ซื้อที่ดินรับปิดงบบริษัทต่างชาติ ซื้อบ้านรับวางระบบบัญชีหาผู้สอบบัญชีเข้าสู่ระบบภาษีเคลียร์ปัญหาภาษีเปิดบริษัทเปิดบริษัทแต่ไม่เคยปิดงบ

This website uses cookies.