3 ต. ต้องเตรียมก่อนเริ่มลงทุน

การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม “การลงทุน” ก็เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะเริ่มลงทุนในอะไรก็ตามควรเริ่มต้นด้วยการเตรียมตัวเองให้พร้อมโดยต้องรู้จัก 3 ต. คือ เตรียมตัว เตรียมสตางค์ และเตรียมใจ กันก่อน

เตรียมตัว

เพื่อจะเป็นผู้ลงทุนที่ดีโดยการกำหนด “เป้าหมายการลงทุน” ที่ชัดเจน เป้าหมายการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จเพราะเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้เรากำหนดแนวทางการลงทุน ได้ง่ายขึ้น ยิ่งปัจจุบันทางเลือกในการลงทุนมีมากมาย การลงทุนแบบไร้ทิศทาง ลงทุนตามข่าวสารตามกระแส อาจทำให้พลาดโอกาสดีๆ ที่เหมาะกับตัวเราไปอย่างน่าเสียดาย

เบื้องต้นเราจึงควรกำหนดเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจนว่า ต้องการลงทุนเพื่ออะไร? ต้องการใช้เงินประมาณเท่าไหร่? และต้องการจะบรรลุเป้าหมายนั้นเมื่อใด? ซึ่งอาจเป็นการลงทุนในระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) ระยะกลาง (1–5 ปี) หรือ ระยะยาว (ตั้งแต่ 5 ปี ข้ึนไป) ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล

บางคนอาจลงทุนระยะสั้นเพื่อเตรียมเงินไว้สำหรับดาวน์รถยนต์คันใหม่ บางคนอาจลงทุนระยะกลางเพื่อเตรียมเงินไปศึกษาต่อต่างประเทศ หรือบางคนอาจต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ ฯลฯ

จากนั้นค่อยพิจารณา “เงื่อนไข” ในการลงทุนว่าคุณรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ต้องการผลตอบแทนแบบไหน อัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ หรือมีเงินลงทุนมากน้อยเพียงใด เพราะสิ่งเหล่านี่แหละที่จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีว่า… ทางเลือกการลงทุนแบบไหนที่จะเหมาะกับคุณมากที่สุด

นอกจากนี้ต้องเพิ่มความรู้ให้กับตัวเอง โดยศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกที่คิดจะลงทุน ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะความเสี่ยงและผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่จะลงทุนนั้น

 

ต้องการลงทุนเพื่ออะไร? ต้องการใช้เงินประมาณเท่าไหร่?
และต้องการจะบรรลุเป้าหมายนั้นเมื่อใด?

 

เตรียมสตางค์

หรือเตรียมเงินลงทุนในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งคุณควรพิจารณา “แผนการออมและแผนการใช้จ่าย” ประกอบด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสถานะทางการเงินหากผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังหรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

เมื่อกำหนดเงินลงทุนเริ่มต้นได้แล้ว ก็ต้องพิจารณา “สินทรัพย์ลงทุน” เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม อนุพันธ์ ฯลฯ อย่างรอบคอบเสียก่อน

แล้วจึง “แบ่งเงิน” ไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนหลายๆ ประเภท หรือที่เรียกว่า “การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน” (Asset allocation) เพื่อให้เกิดการกระจายความเสี่ยง อย่างเหมาะสม

มีข้อมูลทางวิชาการและสถิติมากมายระบุว่าการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนอย่างเหมาะสม สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะราคาของสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทจะตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน รวมทั้ง ใช้เวลาในการปรับขึ้นลงของราคาที่แตกต่างกัน ดังนั้น การลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทจึงช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนจำนวนมากในคราวเดียวได้เป็นอย่างดี

การลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท
ช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนจำนวนมาก ในคราวเดียว

 

เตรียมใจ

สุดท้ายคือ… “เตรียมใจ” ให้พร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ที่จะมีผลกระทบต่อการลงทุน ถือเป็นเคล็ดลับในการลงทุนอย่างมีความสุข เพราะผู้ลงทุนส่วนใหญ่ “ขาดความอดทน” และ “ไม่มีวินัย” ในการลงทุนที่ดีพอ จึงมักจะลงทุนไปตามสิ่งเร้าหรือตามกระแส ไม่ได้พิจารณาการลงทุนด้วยความรอบคอบ

เมื่อกำหนดเงินลงทุนเริ่มต้นได้แล้วก็ต้องพิจารณา “สินทรัพย์ลงทุน” เช่น หุ้น ตราสารหนี้กองทุนรวม อนุพันธ์ ฯลฯ อย่างรอบคอบเสียก่อน

เมื่อมีปัจจัย หรือเหตุการณ์ใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนเกิดขึ้นก็เกิดความกังวล หวาดวิตก กลัวความเสียหายจะเกิดขึ้นกับการลงทุนของตน ทำให้เกิดความกดดันและความเครียด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการลงทุนโดยรวมและต่อสุขภาพจิตของตนเอง ตรงกันข้าม… หากเราพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ มีความอดทน และมีวินัยในการลงทุน เราก็จะพบว่าความผันผวนของตลาดในระยะสั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของเรามากนัก

ลงทุนอย่างรอบคอบ อดทน และมีวินัย

 

เอาเป็นว่า…ใครอยากมี “ความมั่งคั่งทางการเงิน” ควบคู่ไปกับ “ความมั่นคงทางอารมณ์”ต้องเตรียม 3 ต. ทั้ง เตรียมตัว เตรียมสตางค์ และเตรียมใจให้พร้อมจะได้ออกสตาร์ทบนเส้นทางการลงทุนแสนสุขได้อย่างผู้ลงทุนมืออาชีพ