สาระธุรกิจ

7 ข้อ “เรื่องวางแผนการเงิน” ที่ทุกคนต้องใส่ใจ

หลังจากได้มีโอกาสไปให้คำปรึกษาในงาน SET in the City 2017 ให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมบูธออมมันนี่ ก็มักจะเจอคำถามเรื่องจะลงทุนยังไงดี กองทุนนี้ดีมั้ย เป็นต้น ซึ่งผมเองในฐานะที่ทำงานในเชิงวางแผนการเงินทั้งระบบให้กับผู้รับคำปรึกษามาหลายปี ก็เลยได้มีโอกาสอธิบายการวางแผนการเงินตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงปลายทาง

 

ซึ่งการวางแผนการเงินก็คือการจัดสำรับทางการเงินให้เหมาะสมกับทุก ๆ เป้าหมายทางการเงินของลูกค้าตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายในชีวิต

 

โดยต้องจัดการตั้งแต่ฐานรากที่มั่นคงก่อนคือ การบริหารรายรับรายจ่าย การจัดการหนี้สิน การจัดการความเสี่ยง เรียงต่อไปเป็นการจัดการเรื่องการออมเพื่อเกษียณ แล้วมีเงินเหลือก็ไปลงทุน แล้วสุดท้ายคือการจัดการส่งมอบทรัพย์สินให้กับทายาทรุ่นต่อไปตามที่ต้องการ

 

ดังนั้นเพื่อให้หลาย ๆ คนที่กำลังจะเริ่มวางแผนการเงิน หรือคิดว่าเราได้วางแผนการเงินการลงทุนบ้างแล้ว เห็นเป็นแนวทางของตัวเองว่าถ้าต้องการแผนการเงินที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ควรจะต้องเช็คเรื่องอะไรบ้าง โดยผมได้รวบรวมมาได้ 7 ข้อ ดังนี้นะครับ

 

ดังนั้นเพื่อให้หลาย ๆ คนที่กำลังจะเริ่มวางแผนการเงิน หรือคิดว่าเราได้วางแผนการเงินการลงทุนบ้างแล้ว เห็นเป็นแนวทางของตัวเองว่าถ้าต้องการแผนการเงินที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ควรจะต้องเช็คเรื่องอะไรบ้าง โดยผมได้รวบรวมมาได้ 7 ข้อ ดังนี้นะครับ

 

  1. รู้จักตัวเองก่อน

โดยข้อแรกนี้ก็คือ การที่เรารู้สถานะการเงินของเราเองว่าวันนี้เรามีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับดีมาก ดี พอใช้ หรือ ยังต้องปรับปรุง ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบกับชีวิตคนเราก็เหมือนเราไปตรวจเช็คสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาล แน่นอนว่าหลายคนก็คงไปตรวจแบบคิดว่าเราน่าจะยังแข็งแรงดี เพราะ ก็ไม่ป่วย ไม่เหนื่อยง่าย หายใจก็ปกติ ไม่ปวดท้องอะไร แต่พอตรวจสุขภาพเสร็จก็มีจำนวนไม่น้อยเพิ่งรู้ว่าตัวเองป่วย บางคนป่วยหนักเลยก็มี เช่น ตรวจเสร็จก็รู้เลยว่าความดันสูง หรืออาจพบเจอเซลล์ผิดปกติก็เป็นได้ หรือบางคนก็อาจจะป่วยแบบเบา ๆ หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ความดันเริ่มสูงพอดีเกณฑ์ หรือคลอเรสเตอรอลเกินมาตรฐาน ซึ่งลักษณะนี้ก็เรียกว่าสุขภาพเราเริ่มมีความเสี่ยงแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ตรวจแล้วสุขภาพดีก็ดีไป แต่คนที่เพิ่งรู้ว่าตัวเองป่วยก็คงต้องกลับไปรักษาหรือปรับปรุง ให้ร่างกายดีขึ้น

เรื่องการเงินก็เช่นเดียวกันที่เราทุกคนควรต้องรู้ถึงสถานะการเงินของตัวเองก่อนว่าตอนนี้เรามีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับใด ซึ่งก็เรียกว่า “การตรวจสุขภาพทางการเงิน (Financial Check Up)” หลาย ๆ คนอาจคิดเหมือนกันว่า ก็วันนี้ยังไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย ยังมีเงินใช้สบาย ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สุขภาพการเงินของเราจะดีตลอดไป ดังนั้นการตรวจสุขภาพทางการเงินก็คือการตรวจสอบว่าเรามีรายรับรายจ่ายเป็นอย่างไร มีรายจ่ายรายการไหนที่ต้องจ่ายประจำมั้ย หรือมีรายจ่ายรายการใดเป็นรายจ่ายแบบทั่วไป ซึ่งถ้าเทียบกับรายรับแล้ว เรามีรายเหลือเท่าไหร่ แล้วเรามีการไปลงทุนอะไรบ้าง ซึ่งเราก็ควรตรวจสอบถึงสินทรัพย์และหนี้สินของเราด้วยว่า ตอนนี้เรามีแหล่งเงินของเราในส่วนไหนบ้าง เช่น มีในเงินฝากเท่าไหร่ หรืออยู่ในกองทุนบ้างมั้ย หรือ มีสินทรัพย์ประเภทส่วนตัวของเรามั้ย ซึ่งจะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว ตอนนี้เรามีสินทรัพย์ทั้งหมดเลย มูลค่าเท่าไหร่แล้ว รวมถึงมีหนี้สินบ้างหรือไม่ ซึ่งอย่างน้อยเราก็ควรมีมูลค่าของสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน เพราะ ไม่เช่นนั้นเราก็จะต้องมีภาระเรื่องการจัดการหนี้สินที่ถือว่าเป็นความเสี่ยงทางการเงินที่อันตรายมากทีเดียว

 

  1. มองเห็นอนาคต

ข้อนี้คือ การตั้งเป้าหมายทางการเงินของตัวเราเองในอนาคต นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่คนส่วนใหญ่มักจะผิดพลาดในเรื่องนี้ เช่น ไม่เคยรู้เลยว่าตอนเกษียณเราควรต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ หรือ ถ้าจะส่งลูกเรียนเราควรต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ เป็นต้น ซึ่งข้อนี้ ก็อยากให้ทุก ๆ ท่านจัดลำดับเป้าหมายตามความสำคัญ และ ตามระยะเวลาด้วย เช่น ถ้าเป้าหมายระยะยาวเกินกว่า 10 ปีนี้ เรามีเรื่องอะไรที่กังวล อาจจะเป็นเรื่องการเกษียณอายุ หรือการเก็บเงินให้ลูก เป็นต้น หรือถ้าเป้าหมายระยะกลาง ๆ ได้แก่ ต้องการแต่งงานในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือ อยากซื้อบ้านใหม่ใน 3 ปี ควรต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ดี เป็นต้น

นอกจากนั้นการมองอนาคตอาจจะไม่ได้มองแค่เรื่องเป้าหมายการเงินเรื่องสำคัญเท่านั้น ควรจะมีเป้าหมายในเรื่องที่สำคัญน้อย ๆ บ้าง แต่ก็ถือว่าจำเป็นในชีวิต เช่น เป้าหมายว่าอยากไปเที่ยวกับครอบครัวในที่ ๆ เราอยากไป หรือ อยากได้มีโอกาสพาคุณพ่อคุณแม่ไปแสวงบุญที่อินเดีย เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่สำคัญ แต่ก็ต้องมีเงินเช่นกัน

 

  1. ถามตัวเองว่าวันนี้เรามีวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายที่ต้องการแล้วหรือยัง

ข้อนี้เป็นการตรวจสอบตัวเองว่าที่เราใช้ชีวิตแบบที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหรือการออมที่ทำอยู่นั้น มันสามารถ นำเราไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการหรือไม่ ซึ่งถ้ามั่นใจว่าได้ ก็ขอแสดงความยินดีว่าคุณเริ่มเข้าใจคำว่าวางแผนการเงินดีขึ้นแล้วครับ แต่ถ้าใครยังตอบไม่ได้หรือไม่มั่นใจ ก็ควรต้องรีบกลับไปตรวจสอบแผนการเงินของตัวเองแล้วว่าเราต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เราต้องไปลงทุนตรงไหนเพิ่ม หรือ เราต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนไหนหรือไม่

 

  1. ถ้าวันนี้ใครมีรายได้มากกว่ารายจ่ายแล้ว ก็ควรต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินที่มากพอด้วย

ข้อนี้คือพื้นฐานลำดับแรกของการวางแผนการเงิน เราต้อง มีเงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Cash) เป็นบัญชีแรกซึ่งควรต้องมีตามหลักการสากลอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ( ซึ่งคิดเฉพาะค่าใช้จ่าย ประจำและค่าใช้จ่ายผันแปร ) และควรต้องมีสภาพคล่องสูงพร้อมถอนได้ทันที รวมถึงต้องมีความเสี่ยงต่ำ เช่น ในธนาคาร หรือกองทุนตลาดเงิน (Money Market  Fund)  หมายความว่าถ้าจะต้องถอนวันนี้ ก็จะสามารถได้เงินออกมาได้ทันที และจะต้องไม่ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ มูลค่าเงินก็ควรต้องไม่ลดลงเสมอ

ข้อนี้บางคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่อยากให้ทุกท่านลองมองในมุมของการเจอวิกฤติบ้าง เช่น เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนทำให้บริษัทที่เราทำงานต้องปิดตัวลงกะทันหัน หรือ ร้านขายของของเราเกิดถูกปิดกะทันหัน ไม่สามารถขายได้เนื่องด้วยอยู่ในอาคารที่ถูกไฟไหม้ ทำให้รายได้หยุดลงทันที หากไม่มีเงินสำรองอย่างน้อย 6  เดือนก็เท่ากับว่าท่านจะต้องเอาสินทรัพย์อื่นขายออกไป เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่าย แม้ว่าสินทรัพย์นั้นอาจจะเป็นหุ้นหรือทองคำที่ยังขาดทุนอยู่ก็ต้องขาย รวมไปถึงอาจต้องขายรถก็เป็นได้ ดังนั้นเพื่อไม่เป็นการประมาทจึงควรให้มีเงินส่วนนี้อย่างเพียงพอ อาจจะมากกว่า 6 เท่าของค่าใช้จ่ายก็ได้ และจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่สบายใจอีกด้วย ซึ่งถ้ามีเพียงพอแล้ว เงินส่วนที่เกินค่อยไปหาวิธีการลงทุนต่อไป

 

  1. ถ้ามีหนี้สิน เราได้จัดการอย่างเหมาะสมมั้ย

ข้อนี้คือข้อที่มาเตือนคนที่ยังมีหนี้สินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินบ้าน รถ หรือบัตรเครดิต รวมไปถึงหนี้สินนอกระบบเราได้จัดการมันอย่างเหมาะสมมั้ย เช่น หนี้สินบ้าน นั้นเราผ่อนมาครบ 3 ปีหรือยัง ถ้าครบแล้วเราได้ลองหาวิธี Refinance มั้ย ซึ่งก็ทำได้ไม่ยาก แค่ลองไปติดต่อกับทางธนาคารต่าง ๆ ดู แล้วก็ดูว่าเงื่อนไขที่ไหนดีที่สุด

แต่ที่น่าจะเป็นห่วงก็คือการเป็นหนี้นอกระบบกับหนี้บัตรเครดิตเพราะ หนี้ประเภทนี้ดอกเบี้ยสูงมาก ๆ เช่น หนี้บัตรเครดิตจะอยู่ที่ประมาณ 18-20% ต่อปี ดังนั้นถ้าเราชำระขั้นต่ำตลอดก็เท่ากับว่า เรากำลังจะเพิ่มยอดหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นหากใครที่มีหนี้สินประเภทนี้ สิ่งแรกที่ควรต้องทำคือปิดยอดหนี้ให้หมดเร็วที่สุด โดยอาจจะลองหาแหล่งเงินรอบ ๆ ตัวว่าพอมีบ้างมั้ย รวมไปถึงอาจจะรีบวางแผนผ่อนหนี้ในยอดที่ต่ำที่สุดก่อนก็ได้ครับ เพื่อเป็นกำลังใจในการผ่อนหนี้ของส่วนอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นข้อนี้ก็แค่ย้ำว่า ถ้าใครมีหนี้นอกระบบหรือหนี้บัตรเครดิตก็ควรต้องรีบจัดการด่วนที่สุด แม้ว่าอาจจะต้องขายสินทรัพย์บางอย่างที่อาจจะไม่สำคัญออกไปก็ควรต้องทำเพื่อลดอัตราการเติบโตของยอดหนี้ในอนาคตครับ

 

  1. จัดการความเสี่ยงเรื่องทรัพย์สิน ชีวิต และ สุขภาพ ดีพอหรือยัง

ข้อนี้คือส่วนสำคัญมาก ๆ ของแผนการเงินแบบองค์รวมเช่นกันเพราะในชีวิตของคนเราทุก ๆ คนอาจจะต้องประสบกับเรื่องไม่คาดฝัน ทั้งอาจจะใหญ่บ้าง รุนแรงบ้าง เช่น ไฟไหม้โรงงาน รถชน รถหาย เป็นโรคร้ายแรง หรือ กลายเป็นคนพิการทุพพลภาพ หรือ อาจจะเล็กน้อยบ้าง เช่น หกล้ม รถเฉี่ยว ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งความเสียหายดังกล่าวนั้น ถ้าหากมันเกิดขึ้นแล้วไม่มีผลกับสถานะการเงินของเรา ก็แสดงว่าเราวางแผนดีแล้ว แต่ถ้ามันเกิดกับเราแล้วมีผลทำให้การเงินของเราเสียหาย ก็แสดงว่าแผนการเงินของเราน่าจะยังจัดการเรื่องนี้ไม่ดี

ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะเป็นเรื่องที่ถ้าเกิดความเสียหายแล้ว เราไม่สามารถจะกลับไปแก้ได้ทัน เช่น ถ้าต้องเป็นมะเร็งแล้วเรากลับไม่มีประกันคุ้มครอง แถมต้องเสียเงินค่ารักษามากมาย รวมถึงอาจจะมีผลทำให้ทำงานได้ลดลง ก็อาจจะทำให้การเงินมีปัญหาได้ แถมเราจะกลับไปเริ่มทำประกันคุ้มครองใหม่ก็คงไม่สามารถทำได้แล้ว ข้อนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำให้หลาย ๆ ครอบครัวมีปัญหาทางการเงินแบบล้มทั้งยืน

ดังนั้นการจัดการที่เหมาะสมกับเรื่องนี้ก็คือการโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันรับผิดชอบไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประกันรถ ประกันไฟไหม้บ้าน ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และ ประกันโรคร้ายแรง ซึ่งก็ควรจัดให้เหมาะสมกับสถานะทางการเงินของเราด้วย ไม่ทำมากเกินไปจนจ่ายเบี้ยไม่ไหว หรือ ทำน้อยเกินไปจนไม่สามารถช่วยอะไรได้หากต้องเจอเหตุการณ์ร้ายแรงจริง ๆ

 

  1. ต้องมีการออมและการลงทุนอย่างเหมาะสมกับทุกเป้าหมายของเรา

ข้อนี้เป็นข้อสำคัญที่หลาย ๆ คน อาจจะคิดเป็นเรื่องแรก ๆ เกี่ยวกับเรื่องการเงิน เช่น เงินเหลือจะเอาไปทำไรดีที่ผลตอบแทนมากกว่าธนาคาร เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วอยากให้ทุก ๆ คนควรต้องจัดการใน 6 ข้อแรกอย่างดีพอก่อน ซึ่งข้อนี้ก็อยากให้ตรวจสอบการออมการลงทุนของตัวเองว่า มีอัตราส่วนการออมการลงทุนคิดเป็นกี่ % ของรายได้ น้อยไปหรือไม่ รวมถึงการลงทุนของเรานั้นมันไปตอบโจทย์เป้าหมายอะไรของเราบ้าง เช่น บางคนอาจจะมีรายได้ปีละ 1,000,000 บาท ก็อาจจะลงทุนในกองทุน RMF หรือ LTF หรือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งอาจจะได้ทั้งการลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณ และยังสามารถเอาไปใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ดังนั้นการออมและการลงทุนกับอะไรจึงต้องมีความรู้จริงในสิ่งนั้นด้วย อย่าลงทุนตามข่าวลือหรือตามกระแสเพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีปล่อยข่าวก็ได้ สรุปข้อนี้ก็คือ ถ้ามีเงินเหลือจากทุกข้อข้างต้นแล้ว ควรนำไปลงทุน แต่ต้องเป็นการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินของเราก่อน เท่านั้น

 

ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลทั้ง 7 ข้อนี้ จะเป็นประตูให้กับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จทางการเงิน ได้เริ่มลงมือวางแผนการเงินของตัวเองอย่างถูกต้อง และสามารถก้าวไปอย่างมั่นคงได้แน่นอนครับ

 

 

 

 

 

admin

Share
Published by
admin
Tags: จดทะเบียนบริษัทcovid2564จดทะเบียนบริษัทบุคคลรายได้เยอะจดทะเบียนบริษัทสรรพกรเรียกจดทะเบียนบริษัทโควิด2021ที่ปรึกษาทางกฎหมายปิดงบการเงินCovid-19ปิดงบการเงินช่วงโควิด19ปิดงบการเงินย้อนหลังปิดงบการเงินโควิด-19ปิดงบย้อนหลังหลายปีปิดงบเปล่าย้อนหลังยื่นงบการเงินล่าช้ายื่นงบย้อนหลังยื่นภาษีย้อนหลังยื่นภาษีร้านค้ารับจดทะเบียนบริษัท ซื้อที่ดินต่างชาติรับจดทะเบียนบริษัท ซื้อบ้านต่างชาติรับจดทะเบียนบริษัทดูช่วงเวลาดีรับจดทะเบียนบริษัทดูฤกษ์รับจดทะเบียนบริษัทวันดีรับจดทะเบียนใกล้ฉันรับจัดการมรดกรับทำบัญชีชาวต่างชาติรับทำพินัยกรรมรับปิดงบการเงินชาวต่างชาติรับปิดงบบริษัทต่างชาติ ซื้อที่ดินรับปิดงบบริษัทต่างชาติ ซื้อบ้านรับวางระบบบัญชีหาผู้สอบบัญชีเข้าสู่ระบบภาษีเคลียร์ปัญหาภาษีเปิดบริษัทเปิดบริษัทแต่ไม่เคยปิดงบ

This website uses cookies.