7 เรื่องของ “อากรแสตมป์” ที่คุณควรรู้ก่อนเซ็นต์สัญญา!!

สวัสดีครับ วันนี้บทความประจำสัปดาห์ของบล็อกภาษีข้างถนนกลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้อง (ใครเรียกร้องแกฟระ!) โดยหัวข้อในวันนี้นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ผมได้ไปร่วมบรรยายในงาน Money Literacy กับพีหนุ่มแห่ง Money Coach กับน้องเอแห่ง A-Academy นั่นเองครับ

โดยในหัวข้อภาษีที่ผมบรรยายนั้นมีส่วนหนึ่งพูดถึงเรื่องของ “อากรแสตมป์” ซึ่งเป็นภาษีอากรอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินครับว่ามีคนหลายคนสงสัยและไม่แน่ใจว่าเจ้าแสตมป์ที่ว่านี้คืออะไร จะปิดไปทำไม ถ้าไม่ปิดจะมีผลอะไรบ้าง วันนี้โอกาสดีสิ้นเดือน ผมเลยถือโอกาสสรุปความเข้าใจแบบสั้นๆง่ายๆในสไตล์ @TAXBugnoms มาให้ฟังในหัวข้อ 7 เรื่องของ “อากรแสตมป์” ที่คุณควรรู้ก่อนเซ็นต์สัญญา!! โดยแบ่งออกเป็นข้อๆ ได้ตามนี้คร้าบบบ

 

1. อากรแสตมป์ คือ การจัดเก็บภาษีประเภทหนึ่งตามประมวลรัษฏากร อยู่ในรูปแบบของแสตมป์ คล้ายกับแสตมป์ติดซองจดหมายนี่แหละครับ แต่ไม่เล็กเท่ากับแสตมป์ของร้านสะดวกซื้อแน่นอน สามารถหาซื้อได้ตามสำนักงานสรรพากรพื้นที่ และสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา รวมถึงสำนักงานที่ดิน สำนักงานขนส่งหรือหน่วยงานราชการอื่นๆที่มีเรื่องของการทำสัญญาครับ

2. วิธีการเสียภาษีของอากรแสตมป์ จะเสียก็ต้องเมื่อมีการกระทำตราสารจำนวน 28 ลักษณะตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เรียกง่ายๆคือตั้งแต่ลงลายมือชื่อในสัญญาตามที่กำหนดไว้บัญชีทีว่านี้เมื่อไร ก็ต้องติดอากรแสตมป์นี่แหละครับ  เช่น สัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน สัญญาจ้างทำของ และสัญญากู้ยืมเงิน ตามอัตราที่กำหนดไว้ รวมถึงบอกไว้ว่าใครต้องเป็นคนจ่ายเงิน (ผู้ที่ต้องเสียอากร) หรือถ้าใครอยากรู้ว่าตราสารหรือสัญญาทั้งหมดมีอะไรบ้าง สามารถคลิกที่ “บัญชีอัตราอากรแสตมป์” เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยครับ

3. จากบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เราจะเห็นว่ามีคำว่า ผู้ที่ต้องขีดฆ่าแสตมป์ ซึ่งจะเป็นฝ่ายตรงข้าม (คู่สัญญา)กับผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ซึ่งการขีดฆ่านี้ทำเพื่อไม่ให้เอาแสตมป์กลับมาใช้ได้อีก โดยต้องลงวันเดือนปีไว้บนอากรแสตมป์ด้วย (ไม่น่าเชื่อนะครับว่ามีคนเอากลับมาใช้อีก แต่บอกตรงๆเลย มีเพียบจ้า)

4. หลายคนมักสงสัยว่า ถ้าไม่ติดอากรแสตมป์ จะมีผลอย่างไรทางกฎหมาย ตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฏากรเลยระบุให้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีการติดอากรแสตมป์ (ปิดแสตมป์บริบูรณ์) เราจะไม่สามารถใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ หรือแม้แต่สำเนาเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้เลย จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบทั้งจำนวนก่อน (ซึ่งกรณีนี้ศาลสามารถยกฟ้องได้ครับ) และที่สำคัญต้องไม่ลืมขีดฆ่าอากรแสตมป์เพื่อให้การปิดอากรนั้นสมบูรณ์ด้วยนะครับ

5. ถ้ามูลค่าอากรแสตมป์มีจำนวนเยอะมาก เราสามารถขอชำระเป็นตัวเงินแทนการติดอากรแสตมป์ได้ โดยใช้แบบที่มีชื่อว่า อ.ส.4 และไปชำระที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ : แบบขอและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน) โดยมีเงื่อนไขว่า มูลค่าตามสัญญาต้องเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น สัญญาเช่าที่ดินที่มีการเช่ามากกว่า 1,000,000 บาทขึ้นไป และสัญญาอื่นๆ อีกมากมาย ตามที่ระบุไว้ตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)

6. ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องติดอากรแสตมป์ เพราะการติดอากรแสตมป์นั้นมีการยกเว้นให้แก่บุคคลบางกลุ่ม เช่น รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ และยังมีการลดให้ สำหรับอากรแสตมป์สำหรับตราสารกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยสูงสุดไม่เกิน 20 บาท

7. ความผิดในการไม่ติดอากรแสตมป์นั้น ถือเป็นความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยมีโทษดังนี้ครับ

ความรับผิดทางแพ่ง

1. ถ้าเกินกว่า 15 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ต้องเสียเงินเพิ่ม 2 เท่า หรือ 4 บาท (จำนวนที่มากกว่า)
2. ถ้าเกินกว่า 90 วัน ต้องเสียเงินเพิ่ม 5 เท่า หรือ 10 บาท (จำนวนที่มากกว่า)
3. ถ้าเจ้าพนักงานตรวจพบ ต้องเสียเงินเพิ่ม 6 เท่าหรือ 25 บาท (จำนวนที่มากกว่า)

ความรับผิดทางอาญา

1. ไม่เสีย ไม่ขีดฆ่า มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
2. แบ่งแยกมูลค่าการชำระอากร เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรแสตมป์ มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
3. ไม่ทำหรือไม่เก็บบันทึกใบรับตามมาตรา 105 ตรี หรือไม่ออกใบรับให้ทันทีที่ถูกเรียกร้องตามมาตรา 106 (ข้อ 2.2) หรือออกใบรับซึ่งไม่ปิดแสตมป์ตามจำนวนอากรที่ต้องเสีย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
4. ผู้ใดโดยตนเองหรือสมคบกับผู้อื่นทำให้ไม่มีการออกใบรับหรือไม่ออกใบรับให้ทันทีที่รับเงิน หรือรับชำระราคาตามมาตรา 105 (ข้อ 2.1) หรือออกใบรับเป็นจำนวนเงินน้อยกว่า ที่รับเงินหรือรับชำระราคาจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ
5. จงใจขัดขวางตามเจ้าพนักงาน ความในมาตรา 123 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 105 ทวิ (ข้อ 3) มาตรา 105 จัตวา (ข้อ 5) หรือมาตรา 123 ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
6. ติดแสตมป์ปลอม หรือค้าแสตมป์ที่ใช้แล้วหรือที่มีกฎกระทรวงประกาศให้เลิกใช้แล้ว ปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

เป็นไงบ้างครับกับ 7 เรื่องของ “อากรแสตมป์” ที่คุณควรรู้ก่อนเซ็นต์สัญญา!! สุดท้ายนี้ ผมขอฝากไว้ครับว่า ในการทำสัญญาหรือธุรกรรมใดๆ อย่าลืมตรวจสอบกฎหมายว่ามีข้อกำหนดอะไรหรือเปล่า อย่างเช่นเรื่องของอากรแสตมป์ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ใครหลายคนไม่ใส่ใจ ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียทำให้ต้องเสียเงินไปโดยไม่คุ้มเลยคร้าบบ