8 ธุรกิจดาวรุ่ง…รับสังคมสูงวัย

โลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีถึง 36.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.89 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน สำหรับประเทศไทยมีประชากร กว่า 66 ล้านคน มีจำนวนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี ประมาณ 6.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 9.9 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ถือได้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) แล้ว และในปี พ.ศ. 2563 คาดว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 14.4 ซึ่งจะก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัย โดยสมบูรณ์ ผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุนี้ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีอำนาจต่อรองในการซื้อ และมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากมีเงินเก็บจากการทำงานหนักมาทั้งชีวิต จึงมีศักยภาพสูงในการบริโภค สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งเราสามารถแบ่งช่วงอายุผู้สูงอายุเป็น 3 ช่วงวัย คือ

ผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี)

เป็นกลุ่มที่มีผู้สูงอายุปริมาณสูงสุด 56% ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือราว 4.6 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ทำงานได้ สนใจสุขภาพ จึงมักทุ่มไปด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เน้นตรวจสุขภาพ รับประทานอาหารเสริม เครื่องสำอางเน้นเรื่องความชุ่มชื่น ชะลอวัย

ผู้สูงอายุวัยกลาง (อายุ 70-79 ปี)

มีปริมาณรองลงมา คือราว 2.5 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ต้องการพักผ่อน บางคนมีโรคประจำตัวที่ต้องระวัง ต้องการเรียนรู้โซเชียลมีเดีย อุปกรณ์ไอที โรงเรียนสอนการใช้อินเทอร์เน็ต ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม เช่น การท่องเที่ยวแบบช้าๆ (Slow Life)

ผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป)

เป็นกลุ่มที่ ต้องพึ่งพิงผู้ดูแล สัดส่วนอยู่ที่ราว 1 ล้านคน สนใจธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแล เช่น เนิร์สซิ่งโฮม ทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับ จะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเหมาะกับสังคมไทยที่เป็นครอบครัวใหญ่ รวมทั้งสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ดูแลจะเป็นหลัก

ประเภทสินค้าและบริการ สำหรับสังคมที่สูงวัย

1. เวชภัณฑ์ และการดูแลสุขภาพ (Pharma & Healthcare)
ลักษณะโรคของกลุ่มผู้สูงอายุเปลี่ยนไปเป็นโรคเรื้อรัง มากขึ้น กว่า 80% ของผู้สูงอายุมี 1 โรคเรื้อรัง ได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือด (อันดับ 1) โรคมะเร็ง, ภาวะสมองเสื่อม เบาหวาน โรคกระดูกพรุน โรคข้ออักเสบ

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส : ยาและการดูแลสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมองเสื่อม โรคเบาหวาน, โรคกระดูก พรุน โรคข้ออักเสบ อุปกรณ์ทาง การแพทย์และเทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องการสูญเสียการได้ยิน การดูแลทันตกรรม การดูแลสายตา

2. ระบบการเงินผู้สูงวัย

รัฐมีภาระที่จะต้องจ่ายภาระเบี้ยหวัดบำนาญมากขึ้น จนกองทุนบำเหน็จบำนาญเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ และจะเปลี่ยนจากกองทุนรัฐ เป็นของเอกชนมาช่วยแบกภาระ

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส : บริษัทการประกันภัย ประกันชีวิต ประกันการเกษียณอายุ, การออม, การจัดการสินทรัพย์ การบริหารกองทุนอสังหาริมทรัพย์ REITs

3. สินค้าอุปโภค บริโภค

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปโดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล น้ำตาลน้อยหรือไม่ใส่เลย ผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันหรือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และระบบย่อย เป็นต้น กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มาแรงที่สุด คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มรองลงมาคือ อาหารที่มาจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ และกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตมาก คือ วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทออร์แกนิกส์ (Organics) ที่ผลิตจากธรรมชาติหรือสมุนไพร และกำลังได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้บริโภคมั่นใจว่าปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี ทั้งนี้หากผู้ประกอบการไทยสามารถประยุกต์ภูมิปัญญาไทยโดยนำสมุนไพรท้องถิ่นที่มีสรรพคุณต่อต้านริ้วรอย (Anti-Ageing) ยกกระชับ ลดรอยกระจุดด่างดำ มาผนวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้จะเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของเครื่องสำอางไทยเกิดเป็นสินค้าใหม่ๆ

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส : การดูแลสุขภาพ การดูแลความตาย บริการเสริมความงามและเครื่องสำอาง, แฟชั่น, ค้าปลีกและเทคโนโลยี

4. การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ

เป็นการเดินทางที่มีกิจกรรมไม่หนัก ไม่ต้องเดินไกล ใช้เวลาแต่ละสถานที่ค่อนข้างนาน มีการแวะพักเพื่อเอื้อต่อการเข้าห้องน้ำที่บ่อยขึ้น ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอยู่ในรถ เช่น วีลแชร์ เป็นต้น หรือสินค้าที่จำหน่ายในระหว่างเส้นทางท่องเที่ยวก็ใช้ชื่อว่า “มุมสุขภาพ” เพื่อให้ผู้ซื้อไม่รู้สึกเขิน เช่นที่ประเทศญี่ปุ่นใช้แทนการระบุว่าเป็นสินค้าเพื่อผู้สูงวัย

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส : การท่องเที่ยวและสันทนาการ สถานที่ท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของนักท่องเที่ยว

5. ธุรกิจบริการผู้สูงวัย

มีการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจของตนเองเพื่อให้เหมาะสมกับการบริการผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางรายในญี่ปุ่น ที่เริ่มปรับเปลี่ยนเวลาเปิดบริการให้เช้าขึ้น จากแต่เดิมที่เปิด 9 โมงเช้ามาเป็นเปิด 7 โมงเช้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ยังได้มีการเพิ่มบริการรับจัดงานศพแบบเรียบง่ายในราคาย่อมเยาอีกด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่คาดว่าจะต้องใช้บริการ เนื่องจากบริษัทรับจัดงานศพใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นมีค่าบริการที่สูงมาก ร้านกาแฟ-ร้านอาหาร ออกแบบทางเดินให้กว้างขวางกว่าปกติ เพียงพอให้ทั้งรถเข็นและอุปกรณ์ช่วยเดินผ่านได้ เก้าอี้ก็มั่นคงแข็งแรงและโต๊ะก็มีขนาดที่ค่อนข้างเตี้ยกว่ามาตรฐาน เมนูอาหารที่ขายก็เป็นอาหารที่เคี้ยวง่าย พนักงานก็จะบริการส่งอาหารให้ที่โต๊ะ

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส : ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าต่างๆ

6. วัสดุก่อสร้าง-อุปกรณ์ สำหรับผู้สูงอายุ

กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสร้างและตกแต่งบ้านที่มีผลต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตภายในบ้าน การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกายภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงวัย เช่น ก๊อกน้ำ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกแบบปัดไปด้านข้างมากกว่าแบบหมุนหรือกด ลูกบิดประตู เลือกแบบก้านโยก จับถนัดมือ สวิทซ์-ปลั๊กไฟ ที่ใหญ่ มีสีสรรที่เห็นชัดเจน

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส : ผู้ผลิตและร้านขาย วัสดุ-อุปกรณ์ (Hardware) ต่างๆ

7. เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ

กลุ่มผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตเนื่องจากสภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอย ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยเฟอร์นิเจอร์เพื่อผู้สูงอายุได้แก่ เตียงนอนที่สามารถปรับระดับได้และไม่สูงเกินไป ที่นอนยางพาราที่มีความแข็งตัว เก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิง และหมอนเพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส : ผู้ผลิตและร้านขาย เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ภายในบ้าน

8. อสังหาริมทรัพย์ ที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ

จะเป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดว่าในระยะแรกจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุเป็นระยะสั้นๆ เช่น การดูแลระหว่างวันแบบไปเช้าเย็นกลับ(Daycare) และการพักฟื้นระยะยาว(Longstay) ที่พำนักระยะยาวจะมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นซึ่งจะได้รับแรงผลักดันจากทั้งผู้สูงอายุคนไทยและชาวต่างชาติ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มปรับตัวและติดตามพฤติกรรมของสังคมไทยที่จะเปลี่ยนไป รวมถึงศึกษารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับตลาดคนไทย

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส : อยู่อาศัยผู้สูงอายุ, การดูแลผู้สูงอายุ

 

หมายเหตุ : สำหรับข้อ 8 อสังหาริมทรัพย์ ที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ยังประกอบด้วย 6 รูปแบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ย่อย ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป

 

บทสรุป

จะพบว่า ทั้ง 8 ธุรกิจนี้ มีโอกาสสำคัญในการขยายฐานลูกค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งหากมองในมุมอาเซียน และอาเซียน + 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ที่มีจำนวนผู้สูงอายุรวมกันกว่า 300 ล้านคน ถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการจะผลิตสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้

ญี่ปุ่นถือเป็นต้นแบบในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นประเทศที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เป็นประเทศแรก ๆ ของเอเชีย และมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกประมาณร้อยละ 23.7 ของประชากรทั้งประเทศ 126.66 ล้านคน ซึ่งผู้ประกอบการของญี่ปุ่นหลายรายให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของกิจการ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ส่งผลให้กิจการต่าง ๆ ยังสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับในประเทศไทยซึ่งกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ผู้ประกอบการจึงควรมีการปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สำหรับในช่วงวันผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งความสุขที่ลูกหลานจะได้กลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ สินค้าต่าง ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นทางเลือกที่ดีที่จะเลือกซื้อเป็นของขวัญของใช้เพื่อมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่ตนเคารพ หากผู้ประกอบการผลิตสินค้าตอบสนองโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุได้ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงนี้กว่าร้อยละ 15 และส่งออกเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน และอาเซียน +3 ได้ร้อยละ 10

ที่มา  http://terrabkk.com/news/105659

ขอบคุณข้อมูล : รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย E-mail : udchula@gmail.com Website : http://universaldesign-curu Facebook : UDCURU