“กระทรวงพาณิชย์” เปิดตัว “10 สมาร์ทบิซิเนส” ต้นแบบโมเดลธุรกิจเชิงนวัตกรรม หวังจุดประกายไอเดียแก่เอสเอ็มอีใช้เป็นแนวทางเริ่มต้นธุรกิจ พร้อมสร้างพี่เลี้ยงฟูมฟักดูแล ทั้งให้คำปรึกษาเชิงลึก เพิ่มทักษะ และเทคนิค นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดตัว “10 สมาร์ทบิซิเนสโมเดลธุรกิจเชิงนวัตกรรม” ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ “สร้างนักการค้ามืออาชีพ” ที่มีการวิเคราะห์ประเมินศักยภาพธุรกิจ สร้างพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาการพัฒนาโมเดลธุรกิจเชิงนวัตกรรม และสร้างต้นแบบ 10 สมาร์ทบิซิเนสที่จะใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นแก่ธุรกิจของประเทศไทย เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยมีทิศทางการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ รองรับประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้ง เครือข่ายสมาคมการค้าต่างๆ สร้างเครื่องมือวินิจฉัยและประเมินสถานะธุรกิจขึ้น โดยได้ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยการบริหารจัดการและองค์ประกอบความสำเร็จของการประกอบธุรกิจและประมวลผล โดยได้คัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการค้าและบริการที่ผ่านการวินิจฉัยและประเมินสถานะทางธุรกิจทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งมีแนวคิดและนวัตกรรมที่ตรงกับโมเดลธุรกิจเชิงนวัตกรรมทั้ง 10 ด้าน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อเข้ารับการพัฒนาโมเดลธุรกิจ ซึ่งมีธุรกิจที่ได้รับการประเมินกว่า 3,400 ราย และได้เข้ารับคำปรึกษาพัฒนาโมเดลธุรกิจกว่า 800 รายทั่วประเทศ โดยมีธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบการพัฒนา ประกอบด้วย
1) ด้านรูปแบบโครงสร้างกำไร (Profit Model) ต้นแบบ คือ บริษัท อคา อินโนเทค จำกัด กรุงเทพฯ ธุรกิจทำการตลาดร่วมกับคอนโดมิเนียมโดยแจกเหยือกกรองน้ำให้ใช้ฟรี เพื่อจะสร้างกำไรจากการขายไส้กรองต่อไป
2) ด้านเครือข่าย (Network) ต้นแบบ คือ บริษัท อีพี เดคคอร์ จำกัด จ.เชียงใหม่ ธุรกิจผลิตอุปกรณ์ผ้าม่านสร้างเครือข่ายแฟรนไชส์ที่จะเป็นฐานลูกค้าสั่งซื้อสินค้าอุปกรณ์ผ้าม่านของตนเอง
3) ด้านโครงสร้าง (Structure) ต้นแบบ คือ บิวตี้ฟูลมัมช้อป จ.สุราษฎร์ธานี ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์เก็บนมแม่ โดยใช้โครงสร้างที่ใช้คนน้อยมาก เน้นใช้ช่องทางออนไลน์และจัดจ้างองค์กรภายนอกในการบริหารการขาย
4) ด้านกระบวนการผลิต (Process) ต้นแบบ คือ บริษัท เอ็นพลาส จำกัด จ.ชลบุรี ธุรกิจพัฒนานวัตกรรมการผลิตสินค้าพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมแบบ Express Service ที่มี Lead time ในการผลิตต่ำ เพื่อตอบโจทย์การผลิตในอุตสาหกรรมรถ
5) ด้านประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต (Product System) ต้นแบบ คือ บริษัท เจแทคโก้ จำกัด กรุงเทพฯ ธุรกิจพัฒนานวัตกรรมรองเท้าเซฟตี้ โดยผลิตส้นและตัวรองเท้าเป็นชิ้นเดียว ไม่ต้องเย็บหรือทากาวติด เพื่อขจัดปัญหาการหลุดแยกชิ้นจากการใช้งาน
6) ด้านระบบผลิตภัณฑ์ (Product System) ต้นแบบ คือ บริษัท รถรางชมเมืองสุโขทัย จำกัด จ.สุโขทัย ธุรกิจนอกจากขายรถรางแล้ว ยังขายระบบการบริการ จัดตารางรถ และแอปพลิเคชันมือถือ พร้อมกันไปด้วย
7) ด้านการบริการ (Service) ต้นแบบ คือ บริษัท เอ็นพีเค โปรวิชั่นบิสเน็ส จำกัด จ.หนองคาย ธุรกิจขายคอมพิวเตอร์ที่เน้นการให้บริการแบบครบวงจร ทั้งติดตั้ง ลงโปรแกรม เพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้ขายออนไลน์ที่ราคาต่ำกว่าแต่ไม่มีบริการให้
8) ด้านช่องทางการจำหน่าย (Channel) ต้นแบบ คือ บริษัท ป กวิน จำกัด กรุงเทพฯธุรกิจขายอุปกรณ์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ ขยายช่องทางออนไลน์เพื่อเจาะตลาดผู้รับเหมาในต่างจังหวัดที่เริ่มมีการเปรียบเทียบราคาออนไลน์มากขึ้น
9) ด้านตราสินค้า (Brand) ต้นแบบ คือ บริษัทประทานพรตรังเทรดดิ้ง จำกัด จ.ตรัง ธุรกิจล้างรถ สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลรถยนต์เพื่อเป็นวิธีในการสร้างความรับรู้กับลูกค้าเตรียมพร้อมสำหรับขยายสาขา และสร้างแฟรนไชส์ในอนาคต
10) ด้านความผูกพันกับลูกค้า (Customer Engagement) ต้นแบบ คือ หจก.เดอะแม่นายส์ไวน์เนอรี่ จ.พะเยา ธุรกิจไวน์ผลไม้ใช้การติดต่อแบบเป็นส่วนตัวผ่านโปรแกรมไลน์ (Line) เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าและบริหารจัดการข้อมูลลูกค้า (CRM)
นางอภิรดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในโครงการนี้ยังได้มีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มที่ปรึกษามืออาชีพ มาเป็น “พี่เลี้ยง” (Mentor) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งให้คำปรึกษาธุรกิจเชิงลึก การเพิ่มพูนทักษะและเทคนิคการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ โดยในเบื้องต้นได้คัดเลือกสุดยอดพี่เลี้ยงธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีจุดเด่นในการพัฒนาต้นแบบธุรกิจ (Business Model) เชิงนวัตกรรม จำนวน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนานวัตกรรมสินค้า ด้านนวัตกรรมการบริการ และด้านนวัตกรรมช่องทางการขายและขยายตลาด อีกทั้งได้จัดทำ “คู่มือพัฒนาพี่เลี้ยงธุรกิจเอสเอ็มอี” เพื่อใช้เป็นแนวทางต่อยอดการสร้างและพัฒนาพี่เลี้ยงธุรกิจในรุ่นถัดไป และเพื่อช่วยดูแล/ให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจของไทยมีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
— ที่มา : MGR Online