กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับตราสารบางลักษณะ

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)

เรื่อง    กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับตราสารบางลักษณะ

———————————————

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 และมาตรา 103(3) แห่งประมวล รัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 และมาตรา 123 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราช บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2497 อธิบดีกรมสรรพากรโดย อนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศดังต่อไปนี้

                ข้อ 1  ในประกาศนี้

                           “ตราสาร” หมายความว่า ตราสารที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงิน ตามประกาศนี้

                           “สถาบันการเงิน” หมายความว่า บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันภัยและธนาคาร

                           “ธนาคาร” หมายความว่า ธนาคารหรือสาขาของธนาคารตาม กฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการธนาคารนั้น ๆ

                           “ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๕๓) ใช้บังคับ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป)

                ข้อ 2  ให้กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ตามมาตรา 103(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับตราสารแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

                           “(๑) เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ตามลักษณะแห่งตราสาร ๑. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังต่อไปนี้

                                (ก) มีค่าเช่าตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป

                                (ข) รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่า หรือ

                                (ค) ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๕๔) ใช้บังคับ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป)

                           “(๒) เช่าซื้อทรัพย์สิน ตามลักษณะแห่งตราสาร ๓ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เฉพาะที่นิติบุคคลหรือสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นผู้ให้เช่าซื้อทรัพย์สินนั้น”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๕๓) ใช้บังคับ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป)

                           “(๓) จ้างทำของ ตามลักษณะแห่งตราสาร ๔. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังต่อไปนี้

                                (ก) มีสินจ้างตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป หรือ

                                (ข) รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ ๒๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๕๔) ใช้บังคับ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป)

                           (4) กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ตาม ลักษณะแห่งตราสาร 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

                           (5) กรมธรรม์ประกันภัย ตามลักษณะแห่งตราสาร 6. แห่งบัญชี อัตราอากรแสตมป์

                           (6) ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วสัญญา ใช้เงิน ตามลักษณะแห่งตราสาร 9.(2) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

                           (7) เลตเตอร์ออฟเครดิต ตามลักษณะแห่งตราสาร 14. แห่งบัญชี อัตราอากรแสตมป์

                           (8) ใบรับของ ตามลักษณะแห่งตราสาร 16. แห่งบัญชีอัตราอากร แสตมป์ เฉพาะกิจการรับขนส่งทางอากาศที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายไทย

                           (9) ค้ำประกัน ตามลักษณะแห่งตราสาร 17. แห่งบัญชีอัตราอากร แสตมป์ เฉพาะที่สถาบันการเงิน แต่ไม่รวมถึงบริษัทประกันภัยเป็นคู่สัญญา

                           (10) คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร ตามลักษณะแห่งตราสาร 23. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เฉพาะที่ต้นฉบับแห่งตราสารนั้น ต้องชำระอากรแสตมป์เป็น ตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร

                           (11) ใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ ยานพาหนะ ทั้งนี้ เฉพาะยานพาหนะซึ่งมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เฉพาะที่นิติบุคคลเป็นผู้ขาย และผู้ให้เช่าซื้อยานพาหนะนั้น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยานพาหนะที่ใช้แล้ว

                           (12) ใบรับสำหรับการขายเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ค) แห่ง บัญชีอัตราอากรแสตมป์

                ข้อ 3  วิธีเสียอากรเป็นตัวเงิน

                           (1) สำหรับตราสารตามข้อ 2(1)

                                 “(ก) กรณีเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ ตามลักษณะแห่งตราสาร ๑. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ มีค่าเช่าตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป หรือรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่า ให้ผู้ให้เช่าชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน ๑๕ วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๕๔) ใช้บังคับ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป)

                                 (ข) กรณีเช่าอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ชำระอากร เป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น ๆ ก่อนหรือในวันที่มี การรับจดทะเบียนดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนำเงินค่าอากรแสตมป์ที่ได้รับ ชำระไว้นั้น ส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบของทางราชการ

                           (2) สำหรับตราสารตามข้อ 2(2)

                                 (ก) กรณีนิติบุคคลเป็นผู้ให้เช่าซื้อทรัพย์สิน เฉพาะที่เป็นอสังหา ริมทรัพย์ และยานพาหนะที่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ แต่ ไม่รวมถึงยานพาหนะใช้แล้ว ให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์

                                 “(ข) กรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เป็นผู้ให้เช่าซื้อทรัพย์สิน ให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๕๓) ใช้บังคับ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป)

                           (3) สำหรับตราสารตามข้อ 2(3) ให้ผู้รับจ้างชำระอากรเป็นตัวเงิน แทนการปิดแสตมป์ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตาม ระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวัน กระทำตราสารนั้น

                           “(๔) สำหรับตราสารตามข้อ ๒ (๔) ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับผู้ให้กู้หรือตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ ๕๓) ใช้บังคับ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป)

                           (5) สำหรับตราสารตามข้อ 2(5) ให้ผู้รับประกันภัยชำระอากร เป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์

                           (6) สำหรับตราสารตามข้อ 2(6) ให้สถาบันการเงิน แต่ไม่ รวมถึงบริษัทประกันภัย และธนาคารผู้ออกตั๋วชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์

                           (7) สำหรับตราสารตามข้อ 2(7)

                                 (ก) กรณีออกในประเทศไทย ให้ธนาคารผู้ออกตราสาร ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์

                                 (ข) กรณีออกในต่างประเทศ และให้ชำระเงินในประเทศไทย ให้ธนาคารที่เป็นผู้ทรงคนแรกในประเทศไทยชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์

                           (8) สำหรับตราสารตามข้อ 2(8) ให้ผู้ออกใบรับ ชำระอากร เป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์

                           (9) สำหรับตราสารตามข้อ 2(9) ให้ผู้ค้ำประกันชำระอากรเป็น ตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ โดยชำระไว้ต่อสถาบันการเงิน แต่ไม่รวมถึงบริษัทประกันภัยที่ เป็นคู่สัญญา

                           (10) สำหรับตราสารตามข้อ 2(10) ให้คู่สัญญาหรือผู้กระทำตราสาร ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ โดยให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับต้นฉบับ

                           (11) สำหรับตราสารตามข้อ 2(11) ให้นิติบุคคลผู้ออกใบรับชำระ อากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ ก่อนหรือในวันที่มีการรับจดทะเบียนดังกล่าว

                           (12) สำหรับตราสารตามข้อ 2(12) ให้ผู้ออกใบรับชำระอากรเป็น ตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลัง ตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวัน กระทำตราสารนั้น เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

                ข้อ 4  ตราสารตามข้อ 2(1) เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ถือว่าปิดแสตมป์บริบูรณ์ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ได้บันทึกข้อความไว้ในตราสารนั้นว่า “ได้ชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน……………..บาท แล้ว ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่…………….เลขที่……………….ลงวันที่……………………….” แล้วลงลายมือชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ และวันเดือนปีที่บันทึกข้อความดังกล่าว

                ข้อ 5  ให้ผู้ที่ต้องเสียอากรตามข้อ 2(2)(4)(5)(6)(7)(8)(10) และ (11) ระบุข้อความในตราสารตามข้อ 2 ว่า “ชำระอากรแล้ว”

                           ให้สถาบันการเงิน แต่ไม่รวมถึงบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับชำระเงิน ค่าอากรจากผู้ที่ต้องเสียอากรตามข้อ 2(9) ระบุข้อความในตราสารนั้นว่า “ชำระอากรแล้ว”

                “ข้อ 6  เงินค่าอากรที่ต้องชำระตามข้อ 2 และเงินค่าอากรที่รับชำระตามข้อ 5 วรรคสอง ให้ผู้ที่ต้องเสียอากรและผู้รับชำระอากรในกรณีดังกล่าวไปยื่นขอชำระและชำระเงิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่มีการกระทำตราสารที่ต้องเสียอากรนั้น หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่อื่น ทั้งนี้ โดยใช้แบบขอเสียอากรเป็นตัวเงินตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ดังนี้

                           (1) สำหรับตราสารตามข้อ 2 (1) (ก) (ข) (3) และ (12) และข้อ 2 (10) เฉพาะคู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารข้างต้น ให้นำไปยื่นชำระก่อนกระทำตราสารหรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสาร

                           (2) สำหรับตราสารตามข้อ 2 (2) (4) (5) (6) (7) (8) และ (9) และข้อ 2 (10) เฉพาะคู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารข้างต้น ให้ชำระเดือนละ 2 งวด คือ

                               (ก) งวดแรก ค่าอากรที่ต้องชำระหรือได้รับเป็นตัวเงินตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 15 ของเดือน ให้นำไปยื่นชำระภายในวันที่ 22 ของเดือนเดียวกัน

                               (ข) งวดที่สอง ค่าอากรที่ต้องชำระหรือได้รับเป็นตัวเงินตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันสุดท้ายของเดือน ให้นำไปยื่นชำระภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

                           (3) สำหรับตราสารตามข้อ 2 (11) และข้อ 2 (10) เฉพาะคู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารข้างต้น ให้นำไปยื่นชำระก่อนหรือในวันที่มีการรับจดทะเบียน”

(แก้ไขเพิ่มเติ่มโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 55) ใช้บังคับ 14 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป)

                ข้อ 7  เมื่อผู้ต้องเสียอากรนำเงินค่าอากรที่ต้องชำระหรือได้รับเป็นตัวเงินไว้ จากผู้ที่ต้องเสียอากรไปชำระ ณ สถานที่และภายในกำหนดเวลาตามข้อ 6 เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ถือว่าตราสารตามรายการในแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว

                ข้อ 8  ให้ผู้ที่ต้องเสียอากรทำทะเบียนคุมตราสารตามข้อ 2(2)(4)(5)(6) (7)(8)(9)(10) และ (11) ที่มีอยู่ และจ่ายไป ส่วนตราสารตามข้อ 2(5) ให้ใช้แบบ ทะเบียนรับเบี้ยประกันวินาศภัย การประกันประเภทอัคคีภัย ที่นายทะเบียนตามกฎหมาย ดังกล่าวเป็นผู้กำหนดเป็นทะเบียนคุมตราสาร

                ข้อ 9  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับ

                           (ก) ตราสารตามข้อ 2(5) กรมธรรม์ประกันภัย ตามลักษณะแห่ง ตราสาร 6. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                           (ข) ตราสารตามข้อ 2(1)(2)(3)(4)(6((7)(8)(9)(10) (11) และ (12) เมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป