ถึงฤดูกาลจ่ายภาษีทีไร ต้องมีคนหนาว ๆ ร้อน ๆ กันบ้าง ถ้าเตรียมไว้แล้วก็ไม่เป็นไรแต่ถ้าฉุกเฉินไม่ได้เตรียมไว้ก็ยุ่งเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่มีรายได้สูง ๆ พอจ่ายภาษีทีก็แทบลมจับเหมือนกัน ดังนั้นจึงมีหลายคนคิดวิธีการ ประหยัดภาษี แบบที่คิดว่าไม่ผิดกฎหมายมาทำกัน (แต่ถ้าสรรพากรรู้ขึ้นมาทีหลัง ก็คงต้องจ่ายกันอ่วมเหมือนเดิม) ซึ่งวิธีการที่คนส่วนใหญ่ทำกันได้แก่
-
ให้ผู้อื่นแสดงตัวว่าเป็นผู้มีเงินได้แทน
วิธีการนี้มีคนทำกันเยอะมาก โดยเฉพาะพวกผู้รับเหมาทั้งหลายที่แต่ละปีมีรายได้กันสูง ๆ ทั้งนั้น วิธีการก็ง่ายแค่หาใครสักคนมาเป็นผู้มีเงินได้แทนตัวเราแค่นั้น(แต่ตอนรับเงินก็ยังเป็นเราเหมือนเดิม) เช่น นางแพรวามีเงินได้ 500,000 บาท แต่ให้นางน้อยมาเป็นผู้มีเงินได้แทน นั่นคือนางแพรวารับเงิน นางน้อย รับเอกสาร เพียงง่าย ๆ แบบนี้คนที่มีรายได้ก็กลายเป็นนางน้อยแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าวิธีการแบบนี้ นางแพรวาได้ประโยชน์อะไร คำตอบคือ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะคำนวณจาก อัตราการเสียภาษีแบบขั้นบันไดหรือยิ่งคุณมีรายได้มาก คุณยิ่งต้องเสียภาษีมาก ดังนั้น หากแพรวา สามารถกระจายรายได้ให้กับคนอื่นอีกหลายคนก็แปลเธอจะว่าเสียภาษีลดลงไปได้มาก เพราะฐานรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ภาษีที่ต้องเสียนั่นเอง
วิธีนี้เข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษีแบบจงใจ เพราะเป็นการปกปิด อำพรางว่าตนไม่ได้เป็นผู้รับเงิน อาศัยชื่อคนอื่นรับเงินแทน เพื่อไม่ให้ยอดเงินได้สะสมสูงเกินไปในบุคคลคนเดียว สรรพากรรู้ช่องทางนี้ดีและหาทางตรวจจับและปรับผู้ที่กระทำผิดอยู่อย่างสม่ำเสมอ
-
การซื้อใบกำกับภาษี
ด้วยการสร้างยอดรายจ่ายลวง ๆ ขึ้นมา โดยที่ไม่ได้เป็นยอดเงินที่จ่ายจริง ทำได้โดยการหาซื้อใบกำกับภาษีจากร้านค้าต่าง ๆ ที่ผู้ซื้อไม่ได้ขอรับใบกำกับภาษี กรณีนี้ถือว่าจงใจเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน
-
ซ่อนเร้นยอดขาย ตกแต่งบัญชี
ถ้ายอดขายสูง หมายถึงอาจจะมีเงินกำไรที่จะต้องนำไปเสียภาษี ก็มีคนหัวหมอ ตกแต่งบัญชี เพื่อลดยอดขาย หรือร้านค้าที่จงใจเปิดบิลบ้าง ไม่เปิดบิลบ้าง ทำให้ยอดขายต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่ในวงเงินที่ต้องการ เพื่อจะได้เสียภาษีให้น้อยที่สุด
-
ใช้ประโยชน์จากการตั้งคณะบุคคล
อาศัยการตั้งคณะบุคคลเป็นหลายคณะแยกจากกัน แล้วมีชื่อตัวเองร่วมอยู่ในคณะต่าง ๆ แยกกันไป ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้คณะบุคคลเป็นผู้รับเงินรายได้แทนบุคคลธรรมดานั่นเอง ผลที่ตามมาก็คือยอดรวมรายได้จะกระจายออกไปตามคณะต่าง ๆ และยังถูกหักค่าใช้จ่ายได้อีกในแต่ละคณะนั้น เมื่อยอดรวมของเงินได้ถูกแบ่งออกไปเช่นนี้ จะทำให้ฐานเงินได้ลดลง จนไม่ต้องเสียอัตราภาษีที่สูงกว่า หรืออาจไม่เสียเลย เป็นต้น ซึ่งการกระทำอย่างนี้ถือว่ามีเจตนาในการโกงและหลบเลี่ยงภาษี ปัจจุบันยังมีผู้กระทำตามวิธีนี้เพราะคนอื่นแนะนำต่อกันมา โดยเฉพาะในหมู่ดารา นักร้อง ที่มีเงินได้สูงมาก และมีตัวอย่างเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ
-
ตกแต่งตัวเลขทางบัญชี
เป้าหมายก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้เหลือยอดเงินกำไรสุทธิที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเหลือน้อยที่สุด ซึ่งมีบริษัทห้างร้าน ทำวิธีนี้มาก และบางครั้งตรวจจับได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่เกินความสามารถของกรมสรรพากรเช่นกัน วิธีการที่ใช้กันก็คือสร้างยอดรายจ่ายลวง ๆ ในบัญชีทั้งที่ไม่ได้มีการจ่ายจริง เข่น ค่าซื้อทรัพย์สิน เงินโบนัส การจ้างบริษัทที่ปรึกษา หรือจ่ายค่าจ้างวิชาชีพต่าง ๆ วิธีนี้เรียกอย่างเป็นที่รู้กันก็คือ การทำบัญชีสองเล่ม จะมีเล่มหนึ่งเพื่อยื่นภาษี อีกบัญชีเพื่อใช้จริงในการบริหารกิจการ
-
การแสร้งว่ามีรายได้จากหลายประเภท
เงินได้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีนั้นมีหลายประเภท และบุคคลบุคคลหนึ่งนั้นก็สามารถมีรายได้มากกว่าหนึ่งประเภท ดังนั้นจึงมีช่องว่างว่าจะจัดสรรรายได้ก้อนนี้ ก้อนนั้นว่าเป็นรายได้จากอะไร เพื่อมุ่งหวังในการหักค่าใช้จ่ายได้ โดยมีตัวอย่างเงินได้ในมาตรา 40(2) กรณีเงินได้จากค่านายหน้าซื้อขายที่ดิน หรือ 40(8) กรณีค้าขายของที่ตนไม่ได้เป็นผู้ผลิต เป็นต้น ซึ่งเงินได้ลักษณะนี้จะมีทางเลือกในการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายได้มากทีเดียว เข่น 40% หรือ 80% รายละเอียดตามที่กรมสรรพากรกำหนด
-
ไม่มีกำไร หรือการแสดงบัญชีว่าขาดทุน
วิธีนี้ค่อนข้างเลี่ยงภาษีแบบฮาร์ดคอร์ก็ว่าได้ เพราะบริษัทส่วนใหญ่ยังเหนียม ๆ ขอเลี่ยงหรือเสียภาษีน้อย แต่วิธีนี้คือตั้งใจเลยว่าจะไม่เสียภาษีเลยสักบาทเดียว โดยการแจ้งว่าบริษัทขาดทุน วิธีก็คือการทำให้บริษัทมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ นั่นเอง ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งซื้อใบกำกับภาษี การซื้อบิล การว่าจ้างบริการวิชาชีพแบบปลอม ๆ หรือรับเงินได้แบบไม่สำแดงในบัญชี
-
การซื้อบิล ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการซื้อ-ขายกันจริง
บริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ที่มีรายได้มาก ๆ แต่มีรายจ่ายน้อย ก็จะพยายามหาวิธีเพิ่มรายจ่ายหลอก ๆ เข้ามา วิธีการอีกอย่างที่นิยมกันก็คือการซื้อบิลจากบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นธุรกิจรับจ้าง เช่น ธุรกิจออกแบบ สื่อ สิ่งพิมพ์ หรือโฆษณา เป็นต้น โดยการออกบิลว่ามีการจ้างงานกันในราคาจำนวนหนึ่ง เช่น 5 ล้านบาท แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีงานบริการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงเลย ผลก็คือบริษัทที่ซื้อบิลก็ได้ค่าใช้จ่าย 5 ล้านบาทเพื่อไปคำนวณภาษีเงินได้ โดยการซื้อบิลนี้จะมีการจ่ายให้บริษัทที่ขายบิลเป็น % ตามแต่ตกลงกันในเรื่องของส่วนต่าง เพราะบริษัทที่ออกบิลให้นั้นก็จะมีรายรับที่ต้องไปสำแดงในการเสียภาษีอีกต่อหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งเมื่อคำนวณเงินที่ใช้ในการซื้อบิลกับภาษีที่ประหยัดได้ หักลบแล้วก็มีความคุ้มค่า จึงยังมีการทำกันอยู่ในปัจจุบัน