1. ความนำ
การรู้กฎหมายนับว่าเป็นเรื่องยาก หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษีอากรแล้วก็นับว่าเป็นการยากยิ่งกว่า เพราะกฎหมายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องติดตามข้อมูลข่าวสารตลอดเวลาเพื่อจะได้เข้าใจหลักเกณฑ์วิธีการในการเสียภาษีอากรให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดาจึงควรที่จะรู้ไว้ก่อนว่า นอกจากผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดว่าให้บุคคลทุกคน เว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วพร้อมทั้งข้อความอื่นๆ ภายในเดือนมีนาคมทุกๆ ปี แต่หากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องกรมสรรพากรสามารถประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีได้
2. หลักเกณฑ์การเสียภาษีของผู้มีรายรับถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 85/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 ปัจจุบันแก้ไขโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 หากผู้ประกอบการดังกล่าวมิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว การประกอบกิจการของผู้ประกอบการรายนั้นเป็นการประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่และความรับผิด ดังนี้
1. ไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บก่อนการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลเพิ่มมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนรายอื่นไม่สามารถนำใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของยอดขาย ตามมาตรา 80 และมาตรา 82 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เรื่องโดย นางสาวอารีย์ วรรณาเจริญกุล[1]
[1] นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กลุ่มกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง