สัญญาเช่าซื้อ มากกว่าเช่าเข้าใจให้ครบถ้วน

ความนำ
          การประกอบธุรกิจหรือธุรกรรมบางประเภทที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมีเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเรียกว่า สัญญาเช่าซื้อ ที่ใช้กันมากเพื่อให้ผู้เช่าซื้อได้มีซึ่งทรัพย์สินและก็เป็นกลยุทธ์ในการขายหรือแสวงหากำไรตลอดจนสร้างหลักประกันในอีกรูปแบบหนึ่งของผู้ให้เช่าซื้อ และสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งจะมีบุคคลสองฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องคือฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อและฝ่ายผู้เช่าซื้อ การที่บุคคลทั้งสองฝ่ายดังกล่าวมาตกลงทำสัญญาเช่าซื้อย่อมมีเงินได้หรือรายได้เกิดขึ้นจากการให้เช่าหรือถือว่ามีเงินได้เกิดขึ้นแล้วซึ่งก็จะต้องมีภาระภาษีตามมา ในการพิจารณาประเด็นภาษีอากรให้ถูกต้องได้นั้นในเบื้องต้นผู้ที่เกี่ยวข้องจำต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนว่าอย่างไรจึงจะเข้าลักษณะเป็นสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งจะมีผลต่อการเสียภาษีที่แตกต่างกันไปโดยในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวนั้นผู้เขียนได้กำหนดกรอบการนำเสนอดังนี้
1 สาระสำคัญของสัญญาเช่าซื้อ
2. ภาระภาษีตามประมวลรัษฎากร
3. ความแตกต่างระหว่างสัญญาเช่าซื้อและสัญญาประเภทอื่นๆ
พิจารณาเนื้อหาตามลำดับได้ดังนี้
1. สาระสำคัญของสัญญาเช่าซื้อ
              เช่าซื้อ (Hire Purchase) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ได้ให้ความหมายของคำว่า เช่าซื้อ[1] คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
จากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้[2]
1.สัญญาเช่าซื้อมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย คือ ผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อ
1) ผู้ให้เช่าซื้อ คือ เจ้าของนำเอาทรัพย์สินนั้นออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
2) ผู้เช่าซื้อ คือ ผู้เช่าที่ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ และจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวเมื่อตนใช้เงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว
 ข้อสังเกต เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาบวกด้วยคำมั่นว่าจะขาย ดังนั้น กรณีใดที่ไม่ได้บัญญัติในเรื่องเช่าซื้อ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติในเรื่องเช่าทรัพย์[3]
2.วัตถุแห่งสัญญาเช่าซื้อ
เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 “..เจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า…” แสดงว่า วัตถุแห่งสัญญาเช่าซื้อมิได้จำกัดเฉพาะวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ มิได้จำกัดเฉพาะว่าวัตถุนั้นต้องเป็นสังหาริมทรัพย์แต่อาจจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือวัตถุที่ไม่มีรูปร่างก็ได้
3.ผู้ให้เช่าซื้อต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ[4]
เมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้เช่าซื้อ ดังนั้น บุคคลใดที่มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินจะนำทรัพย์สินดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่าซื้อไม่ได้ กรณีไม่เหมือนสัญญาเช่าทรัพย์ซึ่งผู้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เช่า ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า[5] ผู้ให้เช่าซื้ออาจเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 เช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่ง “เจ้าของ” เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น “เจ้าของ” แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคตหาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ “เจ้าของ” จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และหมายความรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทจากบริษัท ต. แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขที่จะได้กรรมสิทธิ์ต่อเมื่อได้ชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทโดยเจตนาครอบครองใช้สอยอย่างเจ้าของ จะได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกพิพาทเมื่อชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนตามสัญญา โดยมีเงื่อนไขนั้นแล้ว โจทก์จึงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อได้ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น “เจ้าของ” ตามมาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อย่อมสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ

 


[1]ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572
[2]สรุปและรวบรวมมาจากไผทชิต เอกจริยกร คำอธิบาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ พิมพ์ครั้งที่ 12 หน้า 254-271
[3]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3111/2539 และฎีกาที่ 5819/2550
[4]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4544/2533
[5]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7404/2547