เจาะลึกโดนใจ!! ทำไมสรรพากรถึงอยากให้เราจดบริษัท (ตอนที่ 1)

สำหรับประเด็นในวันนี้ ผมขอชวนทุกคนมาพูดคุยและวิเคราะห์เจาะลึกในเรื่องของ “ภาษี” สำหรับ “ธุรกิจ”กันครับ ถ้าหากใครที่เคยติดตามคอลัมน์ ภาษีธุรกิจ101 มาโดยตลอด คงจะเห็นว่าการทำธุรกิจนั้นมีเรื่องภาษีมากมายที่เราต้องรู้ใช่ไหมล่ะครับ และเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึงที่เราต้องรู้ นั่นคือ เรื่องของนโยบายรัฐกับการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจ นั่นเองครับ

 

เนื้อหาสาระในข่าวจริงๆนั้น มันเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ  “มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล” ซึ่งประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ดังนี้ครับ

1. ลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเหลือไม่เกิน 60% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560

2. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์แก่บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคลที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2559-31 ธ.ค. 2560

3. บริษัทที่จัดตั้งใหม่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำรายจ่ายจากการจัดตั้งบริษัท รวมทั้งรายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบบัญชี

4. ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดที่ถือเป็นการโอนส่วนตัวเข้าบริษัทนิติบุคคล

5. การอนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถโอนใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ได้

 

สำหรับคำอธิบายในแต่ละประเด็นนั้น ผมได้วิเคราะห์ให้ฟังใน “บล็อกภาษีข้างถนน” แล้วครับ ใครสนใจติดตามกันได้เลยครับที่บทความ วิเคราะห์เจาะลึก!! มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล ดีจริงไหม?

 

แต่สำหรับชาวออมมันนี่นิวส์ มีอยู่สองเรื่องที่ผมอยากจะเพิ่มเติมให้ช่วยกันคิดและวิเคราะห์ มากกว่าความเข้าใจในนโยบายที่ว่ามานี้ นั่นคือเรื่องของการพิจารณาที่มาของกฎหมาย และการวางแผนประหยัดภาษีของธุรกิจครับ

 

ก่อนอื่น ผมขอเริ่มจากประเด็นเรื่องอัตราภาษีก่อนนะครับ อย่างที่ทราบกันดีครับว่าในปัจจุบันนิติบุคคลอย่าง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนฯทั้งหลาย จะเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 20% ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราภาษีบุคคลธรรมดา และต่ำไปกว่านั้นเมื่ออยู่ในรูปแบบของ SMEs ที่กฎหมายกำหนด ทีนี้เรามาลองดูตัวอย่างเปรียบเทียบกันที่ตารางด้านล่างนี้ครับ

 

เมื่อถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าคงมีหลายคนสงสัยแล้วล่ะครับว่า ทำไมรัฐถึงสนับสนุนให้คนส่วนใหญ่ทำธุรกิจในรูปแบบ “นิติบุคคล” ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน มากกว่า “บุคคลธรรมดา” ใช่ไหมครับ

คงต้องบอกว่า… ข้อดีของมันก็มีมากมายแหละครับ ทั้งเรื่องการจำกัดความรับผิดชอบ เรื่องของการขอกู้ยืม ความน่าเชื่อถือและความสะดวกในการทำธุรกิจทั้งหลาย อะไรต่างๆนานาว่ากันไปที่เป็นแง่บวกต่อธุรกิจของเรา

แต่อีกแง่มุมหนึ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ สิ่งที่รัฐจะได้จากมาตรการเหล่านี้ ถ้าให้พูดสั้นๆ ผมว่ามันคือ “จำนวนรายธุรกิจที่เพิ่มขึ้น” นั่นเองครับ  เพราะการจดทะเบียนนิติบุคคลนั้น มันคือการประกาศตัวว่าเรากำลังเข้าสู่รูปแบบการทำธุรกิจที่ชัดเจนตามกฎหมาย หรืออย่างที่เข้าใจกันดีครับว่า เมื่อเข้ามาแล้ว ธุรกิจมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้ถูกต้องนั่นเองครับ ซึ่งการจดทะเบียนอะไรต่างๆเหล่านี้ จะทำให้รัฐตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และสะดวกขึ้นเช่นเดียวกัน (อ้าวว)

 

จากข้อมูลในบทความ สรรพากร “ลดภาษี-ค่าโอน” ล่อใจธุรกิจส่วนตัวตั้ง “นิติบุคคล” อธิบดีกรมสรรพากรได้กล่าวไว้ครับว่า “ตามมาตรการนี้มีผู้ประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 250,000 ราย ซึ่งหากทั้งหมดนี้ดำเนินการจัดตั้งธุรกิจในรูปนิติบุคคล จะทำให้รัฐเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 4,200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เกิดจากการทำบัญชีอย่างถูกต้อง”

ซึ่งสอดคล้องกับ คำพูดของท่านที่ปรึกษารมว.กระทรวงพาณิชย์ที่กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า “การทำธุรกิจในรูปนิติบุคคลจะทำให้เกิดการแสดงผลประกอบการที่แท้จริงทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายและเป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว”

 

มาถึงตรงนี้หลายๆคนคงสงสัย (อีกแล้ว) ว่า เอ้า!!! ตกลงแล้วใครได้กันแน่ล่ะเนี่ย หรือนี่จะเป็นการล่อเสืออย่างเราให้ออกจากถ้ำกันแน่!! เอาแบบนี้ดีกว่าครับ ผมขอสรุปสั้นๆว่า ถ้าหากทุกคนพร้อมใจกันเข้าระบบและทำถูกต้องอย่างที่ว่า ตัวเจ้าของธุรกิจทั้งหลายจะได้ประโยชน์จากการลดอัตราภาษีเงินได้ และรัฐก็จะได้ประโยชน์จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้มากขึ้นไปแทน ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าชนะด้วยกันทุกฝ่าย แต่ก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับว่า มันจะเป็นแบบนั้นจริงๆหรือเปล่า

 

สุดท้ายก่อนจากกัน ผมอยากชวนให้มองย้อนหลังไปอีกสักนิดครับว่า เมื่อช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ทาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ได้เริ่มต้นศึกษากฎหมายจดบริษัทเจ้าของคนเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กิจการใหม่ๆกันมาสักพักแล้ว ซึ่งถ้าหากกฎหมายที่ว่านี้เกิดขึ้นจริง ยิ่งจะกลายเป็นว่านโยบายทั้งหมดของภาครัฐจะมาช่วยสนับสนุนมาตรการทางภาษีให้ไปในทิศทางเดียวกันนั่นเองครับ

 

คำถามสุดท้ายสำหรับตอนนี้ก็คือ… แล้วเราจะทำยังไงต่อไปดีใช่ไหมครับ? ในเมื่อนโยบายภาษีของทางภาครัฐเองก็รู้เห็นเป็นใจ ตีวงล้อมกรอบให้เราทุกคนต้องเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องเสียยกใหญ่ ทีนี้เราจะเลือกแบบไหน และควรจะทำอย่างไรกับมันดี

….เรื่องนี้คงต้องติดตามต่อในตอนต่อไปครับ…