เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายอื่นถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ ?

การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นมีหลักเกณฑ์ให้คำนวณรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องพิจารณาว่ามีรายจ่ายใดที่ต้องห้ามนำมาคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี หรือไม่ ซึ่งต้องพิเคราะห์ถึงลักษณะของรายจ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจ่าย ผู้รับ ตลอดจนเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานในการจ่ายประกอบด้วย ซึ่งต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไปว่ารายจ่ายนั้นเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ จำนวนเท่าใด ตามความเป็นจริง ไม่จำต้องถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทั้งจำนวน[1]
 

แต่โดยที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6) บัญญัติว่า “เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ” ซึ่งเงื่อนไขข้อนี้เป็นข้อห้ามมิให้นำเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ บทความนี้จึงจะขอนำเสนอการพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าวแต่ละรายการโดยสรุปได้ดังนี้

1. เบี้ยปรับ เป็นมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้มีเงินได้หรือผู้ประกอบการที่เสียภาษีไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร หรือละเลยไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมการเสียภาษีซึ่งส่วนใหญ่กฎหมายจะกำหนดให้รับผิดเป็นจำนวนหนึ่งเท่าหรือสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสีย อย่างไรก็ตามเบี้ยปรับนั้น อาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี[2]
2. เงินเพิ่มภาษีอากร เป็นมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้มีเงินได้หรือผู้ประกอบการที่ไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามประมวลรัษฎากร
3. ค่าปรับทางอาญา เป็นจำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดต่อกฎหมาย
4. ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล[3] ได้แก่
(1) ภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ชำระเมื่อครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด. 51) และเมื่อสิ้นรอบระยะเวลา (ภ.ง.ด. 50)
(2) ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่บริษัทถูกผู้จ่ายเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด
(3) ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทจะต้องรับผิดในกรณีที่บริษัทเป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่บริษัทอื่นและมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย แต่บริษัทไม่ได้หักและนำส่ง ซึ่งบริษัทจะต้องรับผิดโดยเงินของบริษัทเอง
(4) ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เกิดจากการจำหน่ายกำไรตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
 ข้อสังเกต[4] ภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งห้ามมิให้นำมาหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากรหมายถึงภาษีเงินได้ที่บริษัทนั้นเองมีหน้าที่จะต้องเสียหรือมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย
สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ ประมวลรัษฎากรกำหนดเงื่อนไขไว้แล้ว ในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) บัญญัติว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำระ และภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เว้นแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 82/16 ภาษีซื้อที่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (4) หรือภาษีซื้ออื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา”



[1]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2548
[2]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2536 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2540
[3]ไพจิตร โรจนวาณิชย์ ชุมพร เสนไสย สาโรช ทองประคำ คำอธิบายประมวลรัษฎากร เล่ม 1 พ.ศ. 2553 หน้า 2-199
[4]พิภพ วีระพงษ์ การคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 65 ตรี หน้า 95
ที่มา http://www.sanpakornsarn.com/page_article_detail.php?aID=752